10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเทศบรูไน

เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บรูไน”
เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว มีประชากรเพียง 4 แสนกว่าคน และเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของประชาคมอาเซียน เร็วๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปบรูไน เพื่อศึกษาเรียนรู้ในประเด็นด้านแรงงาน การเงินอิสลาม และธุรกิจอาหารฮาลาล รวมทั้งได้เข้าชมสถานที่ต่างๆ ตลอดจนสังเกตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบรูไน ในที่นี้จึงถือโอกาสนำเสนอเกร็ดที่น่าสนใจของบรูไน ที่บางท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยิน ได้ฟังมาก่อนมาเล่าสู่กันฟัง
1.สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านองค์ปัจจุบันของบรูไน ทรงเป็นกันเอง และใกล้ชิดกับประชาชนชาวบรูไนอย่างมาก ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้เราฟังว่า พระองค์ทรงขับรถยนต์ไปร่วมละหมาดกับชาวบ้านตามมัสยิดของชุมชน พระราชทานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำแก่ชาวมุสลิมบรูไนในเดือนถือศีลอด และเมื่อถึงเทศกาลฮารีรายอ สุลต่านจะทรงสัมผัสมือต้อนรับประชาชนบรูไนที่พากันมาเข้าเฝ้าอย่างเป็นกันเอง อนึ่ง ชาวบรูไนจะแยกเข้าเฝ้ากันตามเพศ กล่าวคือ ผู้ชายจะเข้าเฝ้าสุลต่าน ส่วนผู้หญิงจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินี บรูไนนั้นปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และด้วยปัจจัยที่บรูไนมีจำนวนประชากรน้อย ส่งผลให้เกิดความใกล้ชิดกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน
2.บรูไนมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับสิงคโปร์ โดยเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ สุลต่านองค์ปัจจุบันของบรูไน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ผู้ล่วงลับ โดยที่สุลต่านบรูไน ทรงเข้าร่วมพิธีศพนายลี กวนยู ในระดับชั้นเครือญาติ
3.บรูไนวางเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ "Wawasan Brunei 2035” เป็นการวางนโยบายปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นความหลากหลายของภาคเศรษฐกิจ (Economic diversification) ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พยายามนำรายได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าว ไปขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และไอที ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานจากแหล่งใหม่ๆ เพื่อทดแทนร้อยละ 10
ขณะเดียวกัน รัฐบาลบรูไนยังเร่งสร้างบรรยากาศการลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมถึงการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่าวบรูไน เพื่อเชื่อมแผ่นดินสองฝั่งเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลยังกระจายการลงทุนภาคเศรษฐกิจ ให้มีความหลากหลายได้ล่าช้า จึงเป็นเหตุให้บรูไนยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
4.รัฐบาลบรูไนอุดหนุนสวัสดิการสำคัญๆ ให้กับประชาชน เช่น การรักษาพยาบาลฟรี การจัดสรรที่อยู่อาศัยที่ดีมีสุขลักษณะ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลสร้างบ้านจัดสรรให้ในพื้นที่กัมปงไอเยอร์ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ รวมทั้งการจัดการศึกษาฟรีในทุกระดับเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายสร้างระบบการศึกษาชั้นเยี่ยม โดยได้เปิดตัวโครงการสอนและเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไปเมื่อปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็มีทุนให้นักเรียน/นักศึกษา ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่นิยมไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ทั้งนี้ ชาวบรูไนไม่ต้องเสียภาษีรายได้ให้แก่รัฐบาล
5.ชาวบรูไนนิยมรับราชการ การเป็นข้าราชการถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง และเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตของชาวบรูไน ที่เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องสอบเข้ารับราชการ จึงทำให้อัตราการแข่งขันเข้ารับราชการมีสูงมาก
6.แรงงานชาวบรูไนในภาคเอกชน ไม่เพียงพอกับความต้องการ เป็นเหตุให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ทั้งแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีแรงงานจากอินโดนีเซียจำนวนมากที่สุด ราว 50,000 คน จากบังคลาเทศ 40,000 คน อินเดีย 35,000 คน และฟิลิปปินส์ 22,000 คน ตามลำดับ ส่วนแรงงานไทยมีประมาณ 2,400 คนเท่านั้น ทางการบรูไนพยายามส่งเสริมการจ้างแรงงานชาวบรูไน โดยมีมาตรการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวด เช่น จำกัดโควตาแรงงานต่างชาติ แบ่งโซนการทำงาน การสงวนตำแหน่งงานให้กับชาวบรูไน เป็นต้น
7.บรูไนไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนัก และพยายามผลักดันนโยบาย รวมถึงความร่วมมือกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันบรูไนสามารถผลิตไก่และไข่ ได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ขณะที่อาหารประเภทอื่นๆ ต้องนำเข้า ซึ่งมีสิงคโปร์ทำหน้าที่คล้ายพ่อค้าคนกลางให้ จากการเดินสำรวจซูเปอร์มาเก็ต เราพบว่าส่วนใหญ่บรูไนนำเข้าข้าวจากไทย ขนมจากมาเลเซีย อาหารกระป๋องจากไทยและจีน กาแฟจากอินโดนีเซีย เป็นต้น
8.บรูไนมีหมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ กัมปงไอเยอร์ (Kampung Iyer) ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “เวนิซแห่งตะวันออก” เลยทีเดียว มีบ้านเรือนนับพันตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำบรูไน ปลูกสร้างตามแนวชายแม่น้ำ ตัวบ้านยกพื้นขึ้นเหนือน้ำและขยายในแนวราบ การสร้างบ้านของชาวมุสลิมจะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 3 ห้องนอน ได้แก่ ห้องพ่อแม่ ห้องลูกชาย และห้องลูกสาว แต่ละบ้านจะมีทางเดินเชื่อมไปยังศาลาที่พักกลางน้ำ ซึ่งจะมีเลขที่หมู่บ้านติดไว้ด้วย เช่น Jati1 หมายถึง หมู่ที่ 1 เป็นต้น
9.บรูไนมีแหล่งชอปปิงไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศ ไม่มีร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ จากต่างประเทศ มีแฟรนไชส์ร้านอาหารจากต่างประเทศมาเปิด เช่น KFC, McDonald, Coffee Bean เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยบอกว่า ตอนนี้บรูไนมี Starbuck 3 สาขาเท่านั้น
10.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลดอลลาร์บรูไน (BND) มีมูลค่าเท่ากับดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการผูกมูลค่าเงินให้เท่ากันของสองประเทศนี้ ดังนั้น เราจึงสามารถใช้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในการจับจ่ายซื้อสินค้าที่บรูไนได้เลย
กล่าวโดยสรุป บรูไนเป็นประเทศเล็กๆ ไม่วุ่นวาย ประชาชนสามารถใช้ชีวิตแบบ Slow lifeมีความมั่นคงในชีวิตในระดับหนึ่ง หากมองจากการที่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่ขณะเดียวกัน หากรายได้ของประเทศยังต้องพึ่งพิงแต่จากอุตสาหกรรมน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้หมดไปประชาชนในประเทศจะอยู่ได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของบรูไนว่า ก้าวต่อไปของพวกเขาจะเดินไปในทิศทางใด
--------------
สรพงษ์ ลัดสวน
ปิยดา จูตะวิริยะ
รพีพร สิทธิ
ฝ่าย 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย