กลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสนับสนุนกลุ่มฐานล่างของปิรามิด

ระบบเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับความพยายามของกลุ่มประเทศพัฒนาที่จะบริหารจัดการการเงินของโลกด้วยวิธีให้ความช่วยเหลือผ่านองค์กรต่างๆ
เช่น ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างชาติ ที่มักเรียกกันว่า ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund – IMF) รวมถึง องค์การการค้าโลก หรือ ดับบลิวทีโอ (World Trade Organization) แต่กลับนำไปสู่การเกิดกลุ่มผู้ยากไร้ที่เป็นฐานล่างของปิรามิดในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาถึงกว่า 4 พันล้านคนกระจายกันอยู่ทั่วโลก
คำศัพท์ที่มักใช้อธิบายถึงกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจหรือกลุ่มคนยากจนนี้ จะใช้คำว่า the Base of the Pyramid หรือ the Bottom of the Pyramid และมักเรียกเป็นคำย่อว่า BoP
ในขณะที่กลไกการให้ความช่วยเหลือในระดับนานาชาติหรือระดับภายในประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรให้เพิ่มขึ้นจนพ้นระดับเส้นความยากจนที่สหประชาชาติกำหนดไว้
จนเกิดปรากฏการณ์ที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่เริ่มมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือสังคมระดับรากหญ้ามากขึ้น ผ่านแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม หรือใช้แนวทางของการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ทั้งในแง่ของการพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก เพื่อช่วยให้ตลาดฐานล่างของปิรามิดมีโอกาสเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการเข้าไปสร้างพื้นฐานและโอกาสในการสร้างรายได้ให้โดยตรง เช่น การเกิดขึ้นของระบบไมโครเครดิต ทำให้คนฐานล่างสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางการเงินได้ง่ายขึ้น
มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา 2 ท่าน คือ Erik Simanis และ Stuart Hart ทำการศึกษาเรื่องของกลยุทธ์การสนับสนุนกลุ่มฐานรากของปิรามิด และได้สรุปแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็น 2 ระยะ
ในระยะที่ 1 ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างตลาดล่างเพื่อให้กลุ่มฐานล่างได้เข้าถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในราคาที่เป็นไปได้ รวมไปถึงการสนับสนุนในด้านช่องทางการกระจายสินค้า และการให้ความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มฐานล่างในแง่ของการเป็นผู้บริโภค
ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดการพัฒนาจากการเป็นผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการช่วยสนับสนุนให้กลุ่มฐานราก ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจ ด้วยการให้โอกาสเข้าร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจ ร่วมตัดสินใจในการบริหารธุรกิจ
รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการรวมกันหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสามารถเฉพาะของแต่ละกลุ่มฐานราก เพื่อเข้ามารวมตัวกันทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น และส่งเสริมให้กลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรเข้ามาร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มฐานรากอย่างใกล้ชิด
นักวิชาการทั้ง 2 ท่าน ได้นำเสนอกลยุทธ์ในการพัฒนากลุ่มฐานล่างของปิรามิดเพื่อให้มีความสามารถในการทำธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยให้ชื่อเรียกกลยุทธ์นี้ว่า BoP 2.0
กลยุทธ์ BoP 2.0 นำเสนอแนวปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้กลุ่มฐานล่างมีความสามารถในการร่วมสร้างธุรกิจขึ้นจากการสนับสนุนของธุรกิจภาคเอกชน เพื่อสามารถออกแบบและดำเนินธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น และนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคมเพื่อยกระดับกลุ่มฐานรากให้มั่นคงสูงขึ้น
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้ร่วมกับธุรกิจใหญ่ 2 รายเพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์ BoP 2.0 ได้แก่ บริษัท SC Johnson และ บริษัท Solae จนประสบความสำเร็จในประเทศไนโรบี และ ประเทศอินเดีย ตามลำดับ
ขั้นตอนที่ 1 ของกระบวนการกลยุทธ์ BoP 2.0 ได้แก่ ขั้นตอนของการวางแผน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การเลือกพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน 2) การสร้างทีมงานที่จะลงไปสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่ 3) การคัดเลือกผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีความเหมาะสม และ 4) การกำหนดทรัพยากรทางการเงินและอื่นๆ ในการสนับสนุนโครงการอย่างเพียงพอ และมีช่องทางเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ได้โดยสะดวกในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม
คณะผู้วิจัยได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การเริ่มโครงการพร้อมๆ กันในพื้นที่ 2–3 แห่ง ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มท้องถิ่นนั้นๆ และนำไปสู่ความร่วมมือด้านธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของการเริ่มลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเน้นไปที่การสร้างธุรกิจและการให้ความรู้ในการบริหารธุรกิจแก่ผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นชาวท้องถิ่น
การให้ความรู้ส่วนใหญ่จะทำในรูปของการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานจริง และการให้โอกาสในการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อสร้างประสบการณ์ตรง ภายใต้การดูแลสนับสนุนจากทีมพี่เลี้ยง
ในขณะเดียวกัน ทีมพี่เลี้ยงก็จะทำการศึกษาตลาดและช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจภายใต้สถานการณ์จริง เพื่อนำมาประกอบในการปรับปรุงแผนธุรกิจให้เหมาะสมรัดกุมขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 นี้ รวมไปถึงการเตรียมการร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งท้องถิ่น เพื่อคัดเลือกพนักงานที่จะมาร่วมงานกับบริษัทและแผนการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานตามความจำเป็น เริ่มต้นพัฒนาตลาดและสร้างความรับรู้ให้กับท้องถิ่น
ผนวกเข้ากับการมีส่วนร่วมและการเชื่อมั่นซึ่งกันและกันในการทำธุรกิจระหว่างเจ้าของธุรกิจกับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ยินดีเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เมื่อมีการวางรากฐานที่แข็งแรงและธุรกิจเริ่มดำเนินไปได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นการขยายขอบข่ายของกิจกรรมโดยใช้ตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นแนวทาง ซึ่งเริ่มได้จากการขยายธุรกิจออกไปสู่ชุมชนข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่สนใจในรูปแบบที่เกิดขึ้น หรือชุมชนที่แสดงศักยภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนา
และเมื่อเกิดธุรกิจท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ชุมชน ก็จะนำไปสู่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเกิดเครือข่ายและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจที่ขยายวงกว้างได้ต่อไป
ในที่สุดเมื่อมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจจากเจ้าของธุรกิจท้องถิ่นมากพอ ก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น
ภาคธุรกิจเอกชนที่สนใจกลยุทธ์ BoP 2.0 นี้ สำหรับเป็นไอเดียของกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ กิจกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจหาอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ตามลิ้งค์นี้ https://www.johnson.cornell.edu/portals/32/.../BoP_Protocol_2nd_ed.pdf