รู้จัก AED ตัวช่วยสำคัญ
ปัจจุบันหากสังเกตให้ดีจะเห็นตู้กระจกเล็กๆ ติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะทั้งในและต่างประเทศ โดยมีอักษรใหญ่เขียนว่า AED
การรู้ความหมายของตัวอักษรและรู้ความสำคัญของสิ่งที่อยู่ในตู้อาจช่วยชีวิตตัวท่านเอง และคนที่อยู่ใกล้ท่านก็เป็นได้
AED ย่อมาจากคำว่า Automated External Defibrillator ซึ่งหมายถึงเครื่องมือชนิดกระเป๋าหิ้วที่ประเมินอาการการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจฉับพลันของคนป่วยได้โดยอัตโนมัติ และช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทันทีด้วยการช็อกกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจ (defibrillation) ดังที่เราเคยเห็นกันในภาพยนตร์เพื่อให้หัวใจกลับมาสู่การเต้นอย่างปกติได้อีกครั้ง
เวลาผู้นำหรือ VIP เดินทางมักเห็นแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ถือกล่อง AED นี้ ติดตามไปด้วยเสมอเพื่อช่วยเหลือขั้นต้นก่อนที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือเครื่องมือที่ทำหน้าที่คล้ายกับการปั๊มหัวใจด้วยมือ (CPR_Cardiopulmonary Resuscitation) แต่มีประสิทธิภาพกว่ามากเนื่องจากเป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า
เราเห็น CPR กันในภาพยนตร์อย่างผิดๆ เกือบทุกเรื่อง การประกบปากของผู้ช่วยเหลือเข้ากับคนป่วย ก็เพื่อให้มีออกซิเจนซึ่งมีอยู่ในลมหายใจออกประมาณร้อยละ 6 เข้าไปในปอดของผู้ป่วย วิธีที่ถูกก็คือต้องดันต้นคอขึ้นเพื่อให้หน้าหงาย ลมจากปากจะได้สามารถเข้าปอดได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่บนที่ราบ
CPR คือกระบวนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนโดยมุ่งแก้ไขเพื่อมิให้สมองขาดออกซิเจน จนกว่ามีการเยียวยาทางการแพทย์เพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือด และการหายใจกลับคืนมาเป็นปกติ CPR จะกระทำต่อผู้ป่วยที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ และไม่มีลมหายใจ หรือหายใจอย่างผิดปกติ
หากสมองขาดเลือดซึ่งขนส่งออกซิเจนไปสู่สมองเกินกว่า 6 นาทีแล้ว เยื่อในสมองอาจถูกทำลายจนนำไปสู่สภาวะสมองตายได้ การปั๊มหัวใจโดยการเหยียดแขนตรงและใช้มือสองข้างไขว้นิ้วร่วมกันกดลงไปตรงจุดเหนือลิ้นปี่ โดยกดลงไปอย่างแรงช้าๆ อย่างแข็งขัน ให้อกยุบลงไปประมาณ 5 เซ็นติเมตรและก็ปล่อย และทำเช่นนี้อีกในอัตราไม่ต่ำกว่า 100-120 ครั้งต่อนาทีจนคนป่วยรู้สึกตัว หรือเสียชีวิต (บางครั้งอาจต้องทำอยู่ถึงเกือบ 30 นาทีจนแน่ใจ ว่าไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองจึงหยุด)
นอกจากการกดเช่นนี้แล้ว ให้มีการประกบปากหายใจเข้าสลับในอัตรา 30 ครั้งต่อการหายใจเข้า 2 ครั้ง (ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ใช้กับผู้ใหญ่) เมื่อรู้สึกตัวก็จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อไปทันที
CPR มีจุดประสงค์ใหญ่ให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนอยู่ไปยังสมองและหัวใจ CPR เป็นวิธีช่วยชีวิตสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ตัวของมันเองอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาต่อไปเพื่อให้ภาวะปกติของร่างกายกลับคืนมา ตรงจุดนี้แหละที่ AED เข้ามาช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
CPR เป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกหัดมาก่อนอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าคนธรรมดาจะช่วยชีวิตไม่ได้ การปั๊มหัวใจด้วยวิธีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องประกบปากให้ลมหายใจเข้าเป็นข้อแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันสำหรับคนที่ไมได้รับการฝึกหัดมาก่อน
AED พัฒนาขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นเครื่องมือช่วยชีวิตผู้ที่ประสบสภาวการณ์ผิดปกติที่เลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจ (heart attack) ที่ง่ายและสะดวกแก่การใช้คนธรรมดาที่ผ่านการฝึกฝนเพียงเล็กน้อย ก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่คนเดินถนนก็สามารถใช้ได้
เมื่อเปิดสวิทซ์ AED จะให้คำสั่งเป็นภาษาต่างๆ ตามที่ตั้งไว้ทั้งเสียงและภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากให้เอาขั้วไฟฟ้าที่เป็นผ้านิ่มเชื่อมต่อเข้ากับคนป่วย เครื่องมือก็จะตรวจสถานะความเจ็บป่วยของคนไข้ ประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือไม่ หากต้องมีการกระตุ้น เครื่องจะเตือนให้ตรวจคนไข้ว่าไม่มีโลหะอยู่บนร่างกาย (ระวังตะขอเสื้อชั้นใน ตะขอกางเกง กระดุมเสื้อ) และไม่มีใครแตะตัวคนป่วย จากนั้นเครื่องจะสั่งให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า โดยเครื่องจะประเมินว่าจำเป็นต้องใช้ CPR ประกอบหรือช็อตอีกครั้งหรือไม่
AED จะเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจและกระแสไฟฟ้าจากสมอง ตลอดจนการรักษาที่ได้ทำไปในรูปดิจิตัล ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในการเยียวยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
AED มีหลายรุ่น มีทั้งถูกและแพง โดยมีระดับความก้าวหน้าในการให้ข้อมูลและการใช้ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีทุกเครื่องจะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันในการประเมินอาการ และให้คำสั่งในเรื่องการปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ
ปัจจุบันในประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นตู้ใส่ AED อยู่ในสถานที่สาธารณะทุกแห่ง เนื่องจากได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตผู้คนจาก heart attack แพทย์เองเมื่อประสบคนหมดสติก็ต้องตรวจสอบอาการ โดยมีเครื่องมือวัดการเต้นของหัวใจและหาข้อมูลอื่นๆ ซึ่งแพทย์ไม่มีอยู่กับตัวตลอดเวลา ส่วน AED นั้นเป็นเครื่องมืออัตโนมัติที่สามารถประเมินสถานการณ์ของคนเจ็บป่วยได้ทันที และให้การรักษาในกรณีที่ต้องการกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจ อันนำไปสู่การไหลเวียนของโลหิตสู่สมองและส่วนอื่นของร่างกายได้ทันเหตุการณ์
สิ่งที่ AED ต้องการอย่างยิ่งก็คือการดูแลรักษาให้มีสภาพใช้การได้ทันที เฉกเช่นเดียวกับเครื่องมือดับเพลิง แบตเตอรี่ต้องไม่หมดอายุ เครื่องอยู่ในสภาพดีและทำงานอย่างถูกต้อง เพียงติดตั้ง AED และทอดทิ้งไว้อย่างไม่มีการตรวจสอบเป็นระยะเป็นอันตราย เพราะให้ความหวังลมๆ แล้งๆ แก่ประชาชนว่าสามารถช่วยเหลือได้และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างขาดประสิทธิภาพ
AED เป็นเครื่องมือช่วยชีวิต หรือ “การรับ” ซึ่งอาจไม่ทำให้รอดชีวิตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีที่สุดก็คือการไม่ต้องหวังพึ่งพา AED เป็นหลักใหญ่ โดยพยายามดูแลสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี มีวินัยในการใช้ชีวิตตามกลยุทธ์ “การรุก” ต่อเมื่อไม่เป็นผลแล้วจึงค่อยอาศัย AED