The Fourth Industrial Revolution: สู่โลกใหม่ (1)

The Fourth Industrial Revolution: สู่โลกใหม่ (1)

เข้าสู่เดือนที่สองของปี 2559 สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน

ที่เริ่มมาจากจีน จนทำให้หลายตลาดตกต่ำลงไปสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ราคาน้ำมันที่ตกต่ำในรอบ 12 ปี รวมถึงแนวโน้มของสงครามค่าเงินรอบใหม่ที่เริ่มจากญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าภาวะ New Normal หรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่โตต่ำ การค้าโลกที่ลดลง ราคาโภคภัณฑ์ที่จะตกต่ำ และผลตอบแทนการลงทุนที่จะต่ำและผันผวน ได้เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น

แต่ในภาวะ New Normal นี้ใช่ว่าจะไร้ซึ่งแสงสว่างเสียทีเดียว เพราะยังมีหนึ่งกระแสที่ยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลก อันได้แก่ Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการผลิต การทำธุรกิจ รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งกระแสนี้กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีความสำคัญมากจนเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ขนานนามกระแสนี้ว่าเป็น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution)

การปฏิวัติครั้งนี้คืออะไร และมีผลต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนมากน้อยเพียงใด ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะศึกษาในซีรีส์นี้ โดยในตอนที่หนึ่ง จะขอศึกษาถึงนิยามและองค์ประกอบของการปฏิวัติครั้งนี้

ก่อนที่จะทราบว่า การปฏิวัติครั้งที่สี่คืออะไร ความเข้าใจในการปฏิวัติอุตสาหกรรมสามครั้งแรกเป็นสิ่งจำเป็น หากย้อนกลับไปกว่า 300 ปีก่อน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อเครื่องจักรไอน้ำได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้สูบน้ำออกจากเหมือง และเป็นต้นกำเนิดของเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เป็นที่มาของยานพาหนะในปัจจุบัน ขณะที่การปฏิวัติครั้งที่สองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ให้กำเนิดระบบไฟฟ้าและสายพานการผลิต ส่วนการปฏิวัติครั้งที่สามเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 70 หลังชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการผลิตที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เป็นที่แพร่หลายขึ้น

แต่การปฏิวัติครั้งที่สี่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จะเป็นการผสมผสานระหว่างอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับการติดต่อสื่อสารในรูปเครือข่ายเข้าด้วยกัน (Cyber-Physical System) โดยผู้เขียนขอแบ่งนวัตกรรมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้เป็น 6 นวัตกรรม โดยใช้ชื่อย่อว่า SMArt CAT ดังนี้

สองนวัตกรรมแรกคือการผสมผสานระหว่าง Social Network หรือสื่อสังคมออนไลน์ และ Mobile Platform หรือรูปแบบการสื่อสารด้วยเครื่องมือพกพาได้ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคแรกของ Social Network หลังการเกิดขึ้นของ Facebook และ Twitter รวมถึงโปรแกรมพูดคุยอย่าง Whatsapp และ Line แล้วนั้น Social Network ใช้ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นหลัก

แต่ครั้นเมื่อระบบอุปกรณ์พกพามีความอัจฉริยะมากขึ้น โดยพัฒนาใน 4 ความสามารถหลักอันได้แก่ การประมวลผล (Processing Power) ความจุในหน่วยเก็บข้อมูล (Storage Capacity) แบตตารี่ที่เก็บพลังงานได้นาน (Prolong Batteries) และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยง่าย (Access to Knowledge) ทำให้การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานผล สืบค้นข้อมูล และอื่นๆ มีมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่นำมาสู่กระแสเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) หรือการบริโภคแบบร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) ที่ขยายตัวมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมาแย่งส่วนแบ่งกับผู้ครองตลาดดั้งเดิมมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น Airbnb ที่ทดแทนระบบการจองโรงแรมแบบเดิม Uber และ GrabTaxi ทดแทนแท็กซี่แบบเดิม Wikipedia ทดแทนสารานุกรมแบบเล่ม Skype ใช้แทนโทรศัพท์ทางไกล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนำมาสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านในโลกจริง เช่น eBay Alibaba และ Amazon เป็นต้น

นวัตกรรมที่สามได้แก่ Artificial Intelligence (AI) หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ อันได้แก่นวัตกรรมที่จะทำให้คอมพิวเตอร์คิดเอง โต้ตอบกับมนุษย์ได้ หรือกระทำได้เหมือนมนุษย์ โดยรูปลักษณ์ภายนอกของ AI มีทั้งในรูปแบบของหุ่นยนต์ที่คล้ายกับมนุษย์ หรือจะเป็น Software ที่ทำให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้โดยอิสระ เช่น ระบบการจอดรถอัจฉริยะ เทคโนโลยีการขับขี่แบบไร้คนขับ เป็นต้น โดยผู้เขียนมองว่า ความจำเป็นของนวัตกรรมแบบ AI ในระยะต่อไปจะมีมากขึ้นเนื่องจากประชาคมโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีมากขึ้น ซึ่ง AI สามารถช่วยตอบโจทย์นี้ได้

นวัตกรรมที่สี่ ได้แก่ Cloud Computing หรือการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ซึ่งก็คือการที่ผู้ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์จะแบ่งปันทรัพยากรให้กับผู้ใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ให้บริการในการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงให้บริการอื่น ๆ เช่น Software, Platform รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากร (เช่น พื้นที่จัดเก็บข้อมูล) จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น iCloud ของ Apple และ Google Drive ของ Google เป็นต้น ซึ่งระบบนี้ มักจะนำมาซึ่งข้อมูลจำนวนมาก และสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อใช้ต่อยอดทางธุรกิจ (Big Data Analytics) ได้ด้วย

นวัตกรรมที่ห้าได้แก่ Additive Manufacturing (AM) หรือ 3D Printing หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สามารถสร้างชิ้นงานเป็นวัตถุจับต้องได้ (3 มิติ) แทนที่จะเป็นรูปในกระดาษ (2 มิติ) ซึ่งการสร้างชิ้นงานเหล่านั้น จะเป็นการนำแบบในคอมพิวเตอร์มาขึ้นรูปทีละชั้น และค่อยสร้างเพิ่มขึ้นด้วยการเติมวัตถุดิบลงไปจนได้ชิ้นงาน 3 มิติ ซึ่งนวัตกรรมนี้กำลังขยายเข้าสู่ผู้ใช้ระดับครัวเรือนมากขึ้นในราคาที่ต่ำลง และมีการประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ของเล่น ตุ๊กตาย่อส่วน รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อาวุธปืน ชิ้นส่วนรถยนต์หรือแม้กระทั่งอาหารและอวัยวะเทียม

นวัตกรรมสุดท้ายได้แก่ Internet of Things (IoT) หรือเครือข่ายที่อนุญาตให้สิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคาร และสิ่งอื่น ๆ สามารถสื่อสาร เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ อันจะทำให้เจ้าของรวมถึงผู้ผลิตสิ่งของนั้น ๆ ได้ทราบข้อมูล อันจะนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย เช่น บ้านที่สามารถเปิด/ปิดสวิตซ์ไฟตามห้องต่างๆ ที่มีคนหรือไม่มีคนอยู่ ลำโพงที่สามารถปรับจูนระบบเสียงให้ตรงกับลักษณะห้องที่วางไว้ รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตรที่สามารถรับข้อมูลด้านอากาศและดินเพื่อใช้วางแผนในการเพาะปลูก

ทั้งหกนวัตกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และอาจจะพลิกโฉมการผลิตและการดำเนินชีวิตของผู้คนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป