ศาสนากับการเมืองญี่ปุ่น

การแบ่งแยกระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรหรือการแยกศาสนาออกจากการเมืองเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งของระบบการปกครอง
แบบเสรีประชาธิปไตย ภายใต้หลักการนี้ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพเต็มที่ในการเลือกนับถือศาสนา รวมทั้งการเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เลยด้วย ดังนั้น จึงไม่มีใคร (รวมถึงตัวรัฐเอง) ที่จะมีสิทธิในการบังคับให้คนอื่นนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาได้ตามอำเภอใจ และศาสนาหรือองค์กรของศาสนานั้นๆ ก็จะต้องไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือสามารถใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐได้ไม่ว่าในทางใดๆ เช่นกัน
สำหรับญี่ปุ่น การแยกศาสนาออกจากการเมืองมีนัยสำคัญเป็นพิเศษในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นได้สร้างลัทธิชินโตของรัฐขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาให้พลเมืองอุทิศตนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อการสร้างจักรวรรดิของญี่ปุ่น ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำญี่ปุ่นไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองในศตวรรษต่อมา
และเมื่อญี่ปุ่นถูกอเมริกาเข้ายึดครองหลังจากแพ้สงคราม อเมริกาได้ยกเลิกลัทธิชินโตของรัฐและใส่หลักการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตนเองเขียนให้กับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจนปัจจุบัน โดยมาตราที่ 20 และมาตราที่ 89 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองเสรีภาพทางศาสนาของพลเมืองญี่ปุ่นทุกคน และปฏิเสธการมีสิทธิพิเศษและอำนาจทางการเมืองขององค์กรทางศาสนา นอกจากนั้นก็ยังห้ามรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงห้ามการใช้เงินของสาธารณะไปในกิจกรรมใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน สมาคม และองค์กรศาสนา รวมทั้งการสาธารณกุศลใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของสาธารณะด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วศาสนาก็ยังคงมีความเชื่อมโยงกับการเมืองญี่ปุ่นมาโดยตลอด นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นตั้งแต่นายกรัฐมนตรี สมาชิกของคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาก็ยังเข้าร่วมพิธีการทางศาสนาของลัทธิชินโตอย่างเปิดเผย แม้โดยมากแล้วจะอ้างว่าเป็นการเข้าร่วมในฐานะของประชาชนธรรมดาก็ตาม ในขณะเดียวกันลัทธิชินโตเองก็ยังถูกกล่าวถึงจากนักการเมืองญี่ปุ่นบางกลุ่มในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกชาตินิยม
ศาลเจ้ายะสุกุนิซึ่งเป็นศูนย์กลางของลัทธิชินโตของรัฐสมัยสงครามก็ยังคงอยู่ และการไปเยือนศาลเจ้าแห่งนี้ของนักการเมืองญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้มาโดยตลอด
ในขณะเดียวกัน ศาสนาพุทธบางนิกายของญี่ปุ่นก็มีความเชื่อมโยงกับการเมืองเช่นกัน “สมาคมโซกะกักไก” หรือ “สมาคมสร้างคุณค่า” ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองอิงอยู่กับคำสอนของนิกายนิชิเร็นซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาญี่ปุ่นนั้น ก็เคยมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง และในปัจจุบันสมาคมนี้ก็ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อพรรคโคเมย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคแอลดีพีที่เป็นพรรคการเมืองสำคัญที่ครองอำนาจทางการเมืองในญี่ปุ่นมายาวนาน
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมโซกะกักไกกับพรรคโคเมย์ได้เสื่อมทรามลงหลังจากที่พรรคโคเมย์ตัดสินใจสนับสนุนการออกกฎหมายที่อนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นออกไปปฏิบัติการในต่างประเทศได้ รวมไปถึงการเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางการทหารตามหลักการ “ป้องกันตนเองร่วมกัน” ซึ่งสมาชิกของโซกะกักไกได้ต่อต้านการออกกฎหมายดังกล่าวอย่างเปิดเผย
สำหรับญี่ปุ่นปัจจุบัน เส้นแบ่งระหว่างศาสนากับการเมืองในทางปฏิบัติอาจจะไม่ชัดเจนมากนัก เพราะพรรคการเมืองและองค์กรทางศาสนาต่างก็ต้องการการสนับสนุนจากกันและกัน แต่ก็ไม่มีศาสนาหรือลัทธิใดที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากจนมีโอกาสกลายเป็นศาสนาประจำชาติในลักษณะเดียวกับลัทธิชินโตของรัฐในศตวรรษก่อน โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ศาสนาหรือลัทธิใดๆ ในญี่ปุ่นกลายเป็นศาสนาประจำชาติได้ก็คือการกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงที่มีรัฐสนับสนุน
เรื่องเช่นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตราบเท่าที่มาตรา 20 และ 89 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังคงบังคับใช้อยู่ และที่สำคัญก็คือคนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้ดีว่า ปลายทางของลัทธิชาตินิยมรุนแรงนั้นคืออะไร
-------------------------
ภาคภูมิ วาณิชกะ
ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย