ชาติอัจฉริยะ: ย่างก้าวที่ก้าวหน้าและท้าทายของสิงคโปร์

ชาติอัจฉริยะ: ย่างก้าวที่ก้าวหน้าและท้าทายของสิงคโปร์

ก่อนการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐสมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Leaders Summit)

ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ นายลี เซียง ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พร้อมคณะได้เดินทางเยือนซิลิคอนแวลลีย์ ดินแดนอันเป็นศูนย์รวมของบริษัทด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก

เขามีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารคนสำคัญของโลกไอทีไม่ว่าจะเป็นมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริหารของเฟซบุ๊ค ทิม คุ๊ก ซีอีโอของบริษัทแอปเปิ้ล ศุนทาร์ ปิจไช ซีอีโอของกูเกิล รวมถึงอีลอน มัสค์ ชายผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชื่อดังอย่างเทสลา มอเตอร์

ลี เซียง ลุง โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการติดตามความก้าวหน้าของวงการเทคโนโลยีแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ไปใช้พัฒนาประเทศตามโครงการ “ชาติอัจฉริยะ” (Smart NationProgramme) ซึ่งเป็นภาคต่อของแผนแม่บท “Intelligent Nation 2015”(iN2015) ที่ดำเนินการอยู่ระหว่างปี 2549-2558 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมผลิตภาพของประเทศ

ที่ผ่านมา สิงคโปร์จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปี 2559 รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (4.8 แสนล้านบาท) เพื่อลงทุนด้านนวัตกรรมและวิจัย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งทั่วโลกในการก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยและศูนย์วิจัยแห่งใหม่ อันเป็นการวางรากฐานไปสู่การเป็นชาติอัจฉริยะอย่างเป็นระบบ

โครงการชาติอัจฉริยะดำเนินการภายใต้การดูแลของหน่วยงาน Smart Nation Programme Office ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานภาคเอกชน

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้ประกาศปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐเพื่อตอบสนองต่อการสร้างชาติอัจฉริยะ โดยจะยุบรวมหน่วยงานสำคัญอย่าง Infocomm Development Authority (IDA) และ Media Development Authority (MDA) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทับซ้อนกัน และแทนที่ด้วย 2 องค์กรใหม่ ได้แก่ Government Technological Organisation (GTO) และ Infocomm Media Development Authority (IMDA) ซึ่งจะรับบทเป็นหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่การให้บริการแบบดิจิตัลของภาครัฐ การอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจในกลุ่มข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภาคส่วนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ภายใต้แนวคิดเรื่องการเชื่อมโยง “ทุกคน ทุกสิ่ง ทุกหนทุกแห่งและการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันเสมือนเป็นเครือข่ายเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สืบเนื่องมาจากแผนแม่บท iN2015 เดิม โครงการชาติอัจฉริยะได้ดำเนินโครงการนำร่องด้วยการติดตั้งเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ข้อมูลด้านมลภาวะ สภาพอากาศ ความหนาแน่นของผู้คนต่อพื้นที่ ไปจนถึงสภาพการจราจรบนท้องถนน

เป้าหมายระยะยาวคือการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) ที่เชื่อมโยงวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกันโดยอาศัยเซนเซอร์และระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และประยุกต์เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายหลักของประเทศ ทั้งในด้านสาธารณสุขการคมนาคมขนส่ง และที่อยู่อาศัย

ถึงแม้ระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์จะขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูง แต่การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว กอปรกับจำนวนผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 900,000 คนหรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2573 กำลังสร้างข้อจำกัดให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศขนาดเล็กแห่งนี้

ปัจจุบัน สิงคโปร์กำลังทดลองโครงการนำร่องอย่าง “Telehealthcare” ที่เชื่อมต่อผู้ป่วยกับแพทย์ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เดินทางมาโรงพยาบาลในกรณีที่ไม่ฉุกเฉินนอกจากนี้ ยังมีแนวคิดติดตั้งระบบเตือนภัย “Smart Elderly Alert Systems” ไว้ในที่พักอาศัย โดยระบบจะใช้เซนเซอร์ตรวจจับท่าทางการเคลื่อนไหวและแจ้งผู้ดูแลให้ทราบในกรณีที่ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวในท่าที่ผิดปกติ

ด้านการคมนาคมขนส่ง ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด ด้วยการวิเคราะห์ความหนาแน่นของการจราจรจากเซนเซอร์ที่ติดอยู่กับยานพาหนะและแจ้งข้อมูลสภาพการจราจรในเวลานั้นให้ผู้ขับขี่ได้ทราบ อีกทั้งยังสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละวันและแนะนำเส้นทางที่รวดเร็วและประหยัดกว่าบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลนาทีต่อนาที

นวัตกรรมที่น่าสนใจที่สุด คือการออกแบบรถยนต์ไร้คนขับซึ่งหวังให้เข้ามาแบ่งเบาภาระของรถโดยสารสาธารณะ รถราง และรถไฟรางเดี่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือหรือผ่านตู้บริการสาธารณะ

ขณะที่ความท้าทายด้านที่อยู่อาศัย สิงคโปร์วางแผนสร้างโครงข่ายเมือง HDB อัจฉริยะ ซึ่งอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลหลายด้าน อาทิ การใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและการจำลองภาพด้วยคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ รูปแบบการใช้ชีวิต การเดินทางเข้าออกของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทั้งหมดเชื่อมต่อกับการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบอัจฉริยะอื่นๆ ในบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญราวกับเป็นอวัยวะเทียมของมนุษย์ โครงการชาติอัจฉริยะนับเป็นย่างก้าวที่ก้าวหน้าและท้าทายในเวลาเดียวกัน ความก้าวหน้าของประเทศหมู่เกาะอย่างสิงคโปร์เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ทั้งจากผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในอดีตและแผนการที่มองการณ์ไกลไปยังอนาคตดังที่ปรากฏข้างต้น

แต่นอกเหนือจากความท้าทายที่มุ่งแก้ไขด้วยความช่วยเหลือจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย โครงการชาติอัจฉริยะของสิงคโปร์จะต้องเผชิญความท้าทายใหม่อย่างน้อยสองประการ นั่นคือ การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอันสืบเนื่องจากพื้นฐานเชิงประชากรของประเทศและเป้าหมายของโครงการฯ ที่ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคสูงทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพตามด้วยประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งแม้ยังไม่ปรากฏในตอนนี้ แต่ไม่ช้าก็เร็วย่อมติดตามมาพร้อมกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีในการติดตามสอดส่องประชาชนในทุกแง่มุมของชีวิตอย่างแน่นอน

---------------------

ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”สกว.