เมื่อพลังสังคมเอาจริงเรื่องธรรมาภิบาล

ช่วงนี้ผมได้รับคำถามมาก จากสื่อมวลชนต่างประเทศ และในประเทศว่าแปลกใจหรือไม่ กับการตื่นตัวเรื่อง
ธรรมาภิบาลในสังคมไทยขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของประเทศ ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นจนถูกเปรียบเทียบปรับ แต่ไม่ยอมรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสร้างความผิดหวังและเป็นเรื่องที่โจษจันกันมากในสังคมธุรกิจไทย
คำตอบของผมคือ ไม่แปลกใจ การตื่นตัวและการแสดงจุดยืนโดยสถาบันต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นบทบาทที่น่าชมเชยและสอดคล้องกับแนวโน้มธรรมาภิบาลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ที่นักลงทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อย ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบคัดค้านการทำผิดธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
บทบาทเช่นนี้ไม่ใช่กระแสครั้งคราว แต่เป็นพัฒนาการที่นับวันจะเติบโตและมีพลัง สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในระบบนิเวศน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สังคมพร้อมจะลุกขึ้นคัดค้าน ต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นพลังทางสังคมที่บริษัทเอกชนต้องตระหนักและปฏิเสธไม่ได้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความสำคัญของธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นจริงที่ความล้มเหลวในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเอกชนและความไม่ใส่ใจในเรื่องธรรมาภิบาลของคณะกรรมการบริษัท สามารถสร้างความเสียหายให้กับบริษัทและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997-1998 และวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008-2009 จะมีความล้มเหลวในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเอกชนเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งเสมอ เป็นต้นเหตุของการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ขาดการกำกับดูแล จนเกิดปัญหารุนแรง นำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นและวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และเมื่อวิกฤติเกิดขึ้น ความเสียหายจะมีมากและส่งผลกระทบไปทั่ว ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และประชาชน ตัวอย่าง วิกฤติเศรษฐกิจการเงินสหรัฐปี 2008 ประมาณว่าความเสียหายมีมากกว่า 12.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหล่านี้เป็นบทเรียนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลที่ดีในการลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติหรือปัญหารุนแรง ในอีกด้านหนึ่งบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็มีโอกาสสูงที่จะเติบโตต่อเนื่องและมั่นคง นำมาสู่ความแน่นอนในการสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุน เหล่านี้เป็นเหตุผลให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทเอกชนจึงเป็นที่เรียกร้องและเป็นที่ต้องการของทุกฝ่าย จนเกิดเป็นพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในความสำคัญของธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจทั่วโลก ซึ่งพลังขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ
หนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแล ที่ต้องการเห็นบริษัทเอกชนมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดทุนและตลาดการเงินของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเชิงวิกฤติต้องการให้ตลาดการเงินของประเทศมีคุณภาพ มีมาตรฐาน นำไปสู่ความไว้วางใจของนักลงทุน เราจึงเห็นหน่วยงานกำกับดูแลในทุกประเทศให้ความสำคัญกับการกำกับดูกิจการที่ดี ทั้งในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น บริษัทที่ออกตราสารหนี้เพื่อกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตร ตัวตลาดการเงินเอง เช่น ตลาดหุ้น และบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน และบริษัทที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาการเงิน เพื่อให้เกิดความซื่อตรง ความเป็นมืออาชีพ และความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ ที่จะสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนและตลาดการเงินของประเทศ
ในระดับประเทศ รัฐบาลก็ตระหนักว่าเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องมาจากภาคเอกชนที่เข้มแข็ง และภาคเอกชนที่เข้มแข็งก็ต้องเกิดจากการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของภาครัฐในการกำกับดูแลภาคธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ซื่อตรง เคารพในกติกา กฎหมาย และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้การกำกับดูแลประเทศกับการกำกับดูแลธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ เพราะถ้าการกำกับดูแลธุรกิจของประเทศอ่อนแอ ปัญหามักเกิดขึ้นตามมา สร้างความเสียหายและเป็นต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจและรัฐบาล ตัวอย่างล่าสุดคือ ญี่ปุ่น ที่รัฐบาลได้ปรับนโยบายการกำกับดูแลกิจการใหม่ในภาคเอกชนเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2014 เพื่อให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นที่น่าลงทุนของต่างประเทศ โดยรัฐบาลย้ำว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำคัญมากต่อการเติบโตและความมั่งคั่งของญี่ปุ่นในระยะยาว
พลังขับเคลื่อนที่ สอง คือนักลงทุนที่ต้องการให้การลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดี มีความยั่งยืน ไม่เสียหาย ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทที่นักลงทุนนำเงินไปลงทุนมีการบริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ไม่ทำผิดกฎหมาย โดยนักลงทุนจะมองบริษัทที่ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยง ซึ่งพบบ่อยในบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือซีอีโอมีอำนาจมากเกินไป ทำธุรกิจตามอำเภอใจ ขาดการตรวจสอบอย่างเหมาะสม ตรงข้ามกับบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่การบริหารจัดการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
ปัจจุบันพลังขับเคลื่อนธรรมาภิบาลโดยนักลงทุน ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยนับวันจะมีมากขึ้นๆ ประเทศไทยก็เช่นกัน นักลงทุนเหล่านี้ต้องการการปฏิบัติตามกฎระเบียบกฎหมาย มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลกิจการ และมองผลตอบแทนมากกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หลายบริษัทจะมีนโยบายการลงทุนของตนเอง ที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล และพร้อมขับเคลื่อนให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นจริงในบริษัทที่เข้าไปลงทุน เพื่อให้เงินลงทุนของตนปลอดภัยจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การแถลงข่าวของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเมื่อสองอาทิตย์ก่อน เป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่ในลักษณะนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นจากการขาดธรรมาภิบาลของบริษัทที่เข้าไปลงทุน สอดคล้องกับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในระดับสากล
พลังที่สาม ก็คือ พลังของบริษัทจดทะเบียนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ เพื่อให้บริษัทเป็นที่ไว้วางใจของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปัจจุบันธรรมาภิบาลได้กลายเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญ บริษัทที่มีการกำกับดูแลที่ดีจะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน สถาบันการเงิน พนักงาน ลูกค้า ขณะที่บริษัทที่ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะถูกมองข้าม ทำให้ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและเพื่อความอยู่รอด
พลังทั้งสามด้านนี้กำลังขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจทั่วโลก ในต่างประเทศมีตัวอย่างมากมายที่บริษัทไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ในที่สุดก็ต้องยอมจำนนต่อพลังและความตื่นตัวของสังคมเมื่อทำผิดพลาดเรื่องธรรมาภิบาล
ประเทศไทยก็เช่นกัน เพราะสังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่มีความรู้ มีพลัง มีเสียง แยกถูกผิดได้ และพร้อมทำหน้าที่เป็นสติสัมปชัญญะให้กับบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาลให้แก้ไขตนเองและปรับตัว