รังนกแอ่น: เหมืองทองกลุ่มชาติพันธุ์เอเชียอาคเนย์ (1)
ในดินแดนที่ประกอบด้วยภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะที่เรียงรายดั่งกลุ่มกลีบดอกไม้อยู่กลางมหาสมุทรสีน้ำเงินอันไพศาล
วาดภูมิลักษณ์ตัวเองไว้ดั่งรูปบุปผามาลัย “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถิ่นพหุวัฒนธรรมของผู้คนหลายร้อยชาติพันธุ์ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรนานา และหนึ่งในทรัพยากรอัตลักษณ์ของอนุทวีปแห่งนี้ คือ รังนกนางแอ่น
สายพันธุ์และแหล่งทำรังของนกนางแอ่น
นกอีแอ่น นกนางแอ่น หรือนกแอ่นกินรัง (swift) เป็นนกในตระกูล(order) Apodiformes วงศ์(family) Apodidae เผ่า(tribe) Collocaliini ภาษาอังกฤษเรียกว่า swiftlet หรือ edible-nest swiftlet เป็นนกขนาดเล็กที่ใช้น้ำลายสร้างรัง ซึ่งมนุษย์นิยมเก็บมาบริโภคเป็นอาหารและยา ชอบทำรังอยู่ตามถ้ำในเกาะหินปูนและอาคารบ้านเรือน โดยมีแหล่งทำรังประจำถิ่นกระจายอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะมาสเซเรนี (Mascerene Island) ด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย บริเวณตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย บริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินีและตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ครอบคลุมบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอินเดีย ศรีลังกา เนปาล สิคขิม ภูฏาน ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ติมอร์ ฟิจิ ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย ด้วยเหตุที่มีราคาแพงเยี่ยงทองคำ ชาวตะวันตกจึงได้ขนานนามรังนกว่าเป็น "ทองคำขาว"(White Gold) และเป็น "คาเวียร์แห่งตะวันออก"(The Caviar of the East)
การประกอบสร้างประวัติศาสตร์การใช้ทรัพยากรรังนก
เชื่อกันว่ามีการกินรังนกในจีน 1,500 ปีมาแล้ว ด้วยเชื่อว่าสามารถเพิ่มพลังได้ คนจีนจึงเริ่มค้นหาและค้าขายรังนกกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (A.D.618-907) ซึ่งการบริโภครังนกแอ่นเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มชาติพันธุ์จีน มีหลักฐานที่เชื่อกันว่าได้มีการบริโภครังนกปรากฏในเอกสารของชนชาติจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ขณะที่ปรากฏหลักฐานของจีนที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วอยู่ในช่วงของคริสต์ศตวรรษที่ 17 สมัยราชวงศ์หมิง การบริโภครังนกแอ่นดำเนินเรื่อยมาในลักษณะของอาหารและยา กระทั่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นการบริโภคที่เป็นไปในลักษณะของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม
ขณะที่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อ้างถึงความเก่าแก่ปรัมปราถึงถ้อยพรรณาของนักธรรมชาติวิทยาชาวจีนชื่อ หว่อง ชี เหมิน เขียนขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้จินตนาการถึงที่มาของรังนกว่าเป็นอาหารที่มีความหมายในทางบำรุงบำเรอร่างกาย และโยงถึงพรรณนาความแรกๆ (ค.ศ.1619) โดย บอนท์ (Bont) นักบันทึกชาวดัทช์ (Bont-เขียนเป็นภาษาลาตินว่า Bontius) ซึ่งถอดความกล่าวอ้างโดยจอห์น เรย์ (John Ray) นักปักษีวิทยาชาวอังกฤษในชื่อเรื่อง Hirundo Sinensis nido eduli Bontii (นกนางแอ่นจีนซึ่งสร้างรังกินได้ตามการพรรณนาของ Bontius)
จากหลักฐานลายลักษณ์ เรื่องเล่า และโบราณคดีท้องถิ่น ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจกล่าวได้ว่ามีการ“เก็บใช้”รังนกจากแหล่งธรรมชาติ เป็นอาหารและยา และ “เก็บค้า” รังนกกับกลุ่มชาติพันธุ์จีน มาไม่น้อยกว่า 500 ปีแล้ว
ส่วนการทำฟาร์มนกนางแอ่นหรือการเลี้ยงนกนางแอ่นในบ้านในลักษณะของการเตรียมอาคารให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย และการสร้างรังของนกนางแอ่น(human intervention) ซึ่งเป็นต้นแบบของการทำธุรกิจตึกรังนกแบบใหม่นั้น เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในหมู่บ้าน เซอดายา(Sedaya) หรือ เซอดายู(Sedayu) แห่ง เกรซีค์(Gresik) ในเกาะชวา ค.ศ.1880 ก่อนจะเกิดการตื่นตัวสร้างตึกรังนกกันอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในอินโดนีเซีย มีนกนางแอ่น(Swift)ชนิดที่รังบริโภคไม่ได้ แต่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจการทำฟาร์มนกนางแอ่น(swiftlet farming) คือ เซอริติ(Seriti) หรือ นกนางแอ่นรังหญ้า (Collocalia esculenta) ซึ่งเป็นนกที่ชักจูงให้นกนางแอ่นกินรัง(Swiftlet) เข้ามาทำรังในบ้านรังนก(birdhouse) หรือตึกรังนก(Swiftlet house)
การเก็บรังนกแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระยะเวลาฤดูกาลที่แตกต่างกัน ขณะที่การเก็บรังนกในบ้านนกหรือตึกนกในทุกประเทศขึ้นอยู่กับปริมาณของนก โดยทั่วไปจะมีการเก็บรังนกกันเดือนละ 1 ครั้ง
ปริมาณและมูลค่าตึกรังนกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนการกินรังนกเพื่อสุขภาพ แต่คนจีนในจีนในฮ่องกง หรือชุมชนคนจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างชอบกินรังนก และเชื่อเรื่องความมีประโยชน์ของรังนกมาก ผลจากการนิยมบริโภครังนกที่มีการขยายตัวมากขึ้นเป็นทวีคูณในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้กระแสการสร้างตึกรังนกเพื่อให้นกนางแอ่นเข้ามาอาศัยทำรังและเก็บรังขายเป็นสินค้าได้เกิดการขยายตัวในอัตราที่สูง
ปี 2011 มีตึกรังนกประมาณ 250,000-300,000 หลังในอินโดนีเซีย ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียประเมินว่าทั่วประเทศมีตึกนกราว 50,000 หลัง แต่นักธุรกิจตึกนกประเมินว่ามีนับ 100,000 หลัง ส่วนในเวียดนามมีตึกนกกระจายอยู่ 200 หลัง ในปี 2014 มีตึกนกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของไทย 10,000 หลัง มีนับ100 หลังในภาคใต้ของพม่า และกำลังกระจายไปในจังหวัดปาลาวานของฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้เฉพาะตึกนกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมนับหลายแสนล้านบาท
-------------------
เกษม จันทร์ดำ
นักวิจัยฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว.