'การตรวจสอบย้อนกลับ'กับความยั่งยืน
ได้มีโอกาสรับฟังทฤษฎีของความยั่งยืน (Sustainability) ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ โดย ดร.ทนง พิทยะ ที่งานครบรอบ 50 ปีของคณะบริหารที่นิด้า
ซึ่งท่านได้อธิบายว่า Sustainability คือการบริหารผลกระทบสู่ภายนอก (Externalities) ของการดำเนินธุรกิจ เพราะการประกอบธุรกิจในบางครั้ง ทำให้เกิดผลพลอยได้ ที่อยู่นอกเหนือการรายงานผลประกอบการของบริษัททั่วไป เช่น ยอดขาย กำไร หรือต้นทุนของบริษัท
Externalities เหล่านี้ บางครั้งก็เป็นเชิงบวก เช่น การถ่ายทอดความรู้สู่สังคมหรือภาคการศึกษา จากกระบวนการวิจัยและพัฒนาของบริษัท แต่ในบางครั้งก็เป็นเชิงลบ เช่น ควันพิษจากท่อไอเสีย จากการขนส่งของบริษัท เป็นต้น
หลายปีที่ผ่านมาได้มีมาตรการที่จะควบคุม Externalities ที่เป็นเชิงลบของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบและกฎหมาย และยังมีนวัตกรรมของระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ปรับเปลี่ยน Externalities ให้เข้ามาอยู่ในโมเดลทางเศรษฐกิจของบริษัท (Economic Model) เช่น คาร์บอนเครดิต โดยเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรที่จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับความยั่งยืนอันเป็นผลมาจากตลาด โดยเฉพาะในประเทศและสังคมที่พัฒนาแล้ว เมื่อผู้ซื้อ ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบสู่ภายนอก เพราะเป็นการผลักดันให้ Sustainability เข้ามาสู่ Economic Model ของธุรกิจอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นสิ่งที่ชนชาติตะวันตกให้ความสำคัญมาก แม้กระทั่งใน ซูเปอร์มาร์เก็ต ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ผลไม้ หรือผักสด ยังมี QR Code ที่ผู้ซื้อสามารถทำ Traceability ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อตรวจสอบที่มาของผลไม้แต่ละลูก โดยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ไม่เพียงระบุได้ว่า ผลไม้ลูกนี้ มาจาก ไร่อะไร ประเทศไหน เมื่อไหร่ แต่ยังคงระบุถึงกรรมวิธีในการเพาะปลูก เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย อุณหภูมิ การรดน้ำ ฯลฯ
ไม่เพียงแต่ที่มาของ ผลไม้ลูกนี้ ในบางกรณี Traceability ยังสามารถระบุได้ถึงที่มาของ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และวัตถุดิบอื่นๆ อีกด้วย และในเคสของการบริหาร Sustainability ที่สมบูรณ์แบบ Traceability ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับ และบริหาร Sustainability ได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำจนกระทั่งมาเป็นผลไม้ลูกนี้
หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม Sustainability ของทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้รับ Externalities ในเชิงลบจากอุตสาหกรรมประมง กล่าวคือการที่ความหนาแน่นของปลาในทะเลไทยลดลงกว่า 10 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่เรือประมงบางกลุ่มใช้อุปกรณ์จับปลา ที่ถึงแม้ว่าจะถูกกฎหมายไทย แต่ผิดกฎหมายแน่นอนหากมีการใช้งานในประเทศที่พัฒนาแล้ว
อุปกรณ์เหล่านี้สร้างผลกระทบสู่ภายนอก คือการที่ได้ผลพลอยได้ที่เป็นลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเจริญพันธุ์และส่งผลให้ทะเลไทยเหลือปลาน้อยมากมาหลายปีแล้ว เราจึงมักได้ยินข่าวคราว ของเรือประมงไทย ที่ไปถูกจับในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน
ปัญหาของประเทศในปัจจุบันคือ มาตรการทางกฎหมายและกลไกของภาครัฐยังไม่เพียงพอ ที่จะควบคุมเรือประมงและอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อที่จะฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเรือและอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องถือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ต้นน้ำของหลากหลายห่วงโซ่อุปทานในการสร้างผลิตผล ทั้งเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ
ปัจจุบันผู้ประกอบการบางกลุ่มในประเทศได้ร่วมพัฒนา Traceability กับคู่ค้าในธุรกิจประมงและที่เกี่ยวข้อง ทั้ง Supply Chain โดยเริ่มต้นตั้งแต่ เรือประมง ที่ต้องติด GPS กล้องวงจรปิด ฯลฯ และถูก Track และ วิเคราะห์อย่าง Real Time ด้วย Big Data นอกจากนี้ยังมีสะพานปลา รถบรรทุก และโรงงานในขั้นตอนต่าง ที่ต้องถูก Track และ วิเคราะห์ ได้อย่างเช่นกัน
ความยากลำบากของ Traceability ในประเทศไทย คือเป็นการกำหนดเงื่อนไขกับคู่ค้าที่เกินกว่าที่กฎหมายของประเทศไทยกำหนด ซึ่งคู่ค้าบางรายอาจไม่ได้มีความเชื่อหรือเข้าใจในเรื่อง Sustainability แต่ต้องถูกกดดันด้วยมาตรการทางการตลาดของผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่ปลายน้ำ ที่มีความมุ่งมันที่จะพัฒนา Sustainability เป็นกดดันผู้ประกอบการที่ต้นน้ำ
ในขณะที่ในประเทศและสังคมที่พัฒนาแล้ว Traceability ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกลับเป็นบทบัญญัติขั้นพื้นฐานของกฎหมายที่ต้องทำตามทุกรายอยู่แล้ว
นอกจากนี้ สังคมไทยยังคงไม่ให้ราคาหรือคุณค่ากับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ Sustainability ซึ่งความพยายามของผู้ประกอบการบางกลุ่ม ซึ่งยังคงเป็นส่วนน้อยในประเทศนี้ ย่อมจะไม่บังเกิดผล เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงไม่ให้ความสำคัญต่อผลกระทบสู่ทรัพยากรทางทะเลของการใช้อุปกรณ์บางประเภท
สำหรับผู้เขียนแล้วการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะเริ่มต้นได้ หากมีการรับรู้และตระหนักในปัญหา (Awareness) ของสังคมไทย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าทะเลไทยเหลือปลาน้อยมากแล้ว
เคยตั้งคำถามกันไหมว่า ปลาทูของไทย หายไปไหน