เปิดทิศทาง CSR ปี 59
ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง
สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการแถลงทิศทาง CSR ปี 2559 ให้กับองค์กรธุรกิจที่สนใจ นำใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการประจำปี โดยในปีนี้ ธีมหลักจะเป็นการเสนอแนะให้ธุรกิจปรับโจทย์ (Re-proposition) การดำเนินงานเพื่อรองรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และการนำโมเดล Social Business มาเป็นทางเลือกในการทำ CSR แทนรูปแบบของการบริจาค หรือ Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น
สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กิจการในกลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ในปีนี้ ต่างต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจกันขนานใหญ่ เพื่อรักษาหรือคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของกิจการ และจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโต มาสู่กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ โดยใช้ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง
ส่วนกิจการที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ก็จำต้องปรับวงเงินงบประมาณให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การทำ CSR ในแบบที่ไม่สูญเงินต้น หรือแบบที่ใช้เงินงบประมาณ CSR ก้อนเดิม แต่หมุนเวียนทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลายรอบ จะกลายเป็นทางเลือกที่หลายกิจการจะพิจารณานำมาใช้ในปี 2559 โดยหนึ่งในทางเลือกนั้น คือ โมเดล Social Business ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส
ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมมือกับ Thailand Social Business Initiative (TSBI) จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Social Business: A Solution to achieve SDGs” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการที่จะนำ Social Business มาใช้แก้ไขปัญหาในสังคมไทย และใช้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Faiz Shah ผู้อำนวยการศูนย์ยูนุสประจำเอไอที และ ดร.สุนทร คุณชัยมัง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน Social Business ของกระทรวงมหาดไทย มาเป็นวิทยากรร่วมการเสวนาในครั้งนี้
ในต่างประเทศ การประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจตัวเลขการลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเม็ดเงินที่ลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคม กระจายอยู่ทั่วโลกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากการสำรวจในปี 2555
ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง และในทุกๆ 4 รายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเมื่อปี 2554 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ก่อตั้ง Social Business Initiative ขึ้นเพื่อพัฒนาภาคส่วนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในสหภาพยุโรป
ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบของกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ในหลายรูปแบบ อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC)
ในประเทศไทย เป็นที่คาดหมายว่า จะมีการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของยูนุส คือ เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) มาใช้เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปีนี้เป็นต้นไป
สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือชื่อ “Creating Social Business: ธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของยูนุส เจ้าของแนวคิด Social Business ฉบับต้นตำรับ พร้อมตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม จำนวน 10 กิจการ ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ จากการเข้าร่วมดำเนินงานของกิจการกรามีนที่ยูนุสเป็นผู้บุกเบิกขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org