บ้านประชารัฐ..แนวคิดใหม่(2) ขอสินเชื่อโครงการให้ผู้บริโภค

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เขียนคอลัมน์นี้
โดยทิ้งท้ายไว้ในประเด็นที่ว่า ... หากดูจากรายละเอียดโครงการบ้านประชารัฐ ถือว่าเป็นการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย ให้ซื้อที่อยู่อาศัยด้วยรูปแบบใหม่ ที่ให้โอกาสทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยฝั่งผู้ขายหากต้องการเข้าร่วม ต้องปรับราคาขายสูงสุดไม่เกินราคาที่กำหนด (1.5 ล้านบาท) ต้องรับภาระค่าโอนค่าจดจำนอง และลดราคาขายลงอีก 2% จึงถือเป็นแนวทางการส่งเสริมรูปแบบใหม ที่ช่วยทั้งการดูดซับตลาดที่สร้างเสร็จแล้ว และช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น
ผ่านมาสองสัปดาห์ความคืบหน้าโครงการ “บ้านประชารัฐ” เดินไปค่อนข้างเร็ว สินเชื่อสำหรับผู้บริโภคโครงการบ้านประชารัฐ ได้การตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก จนกระทั่งมีข่าวุว่าวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ในฝั่งธนาคารออมสินมียอดขอสินเชื่อครบจำนวนแล้ว จึงยังเหลือเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภคในฝั่งของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ยังมีวงเงินพร้อมบริการ แต่ที่ผ่านมาธอส.ก็มียอดคำขอสินเชื่อบ้านประชารัฐมาแล้วจำนวนหนึ่ง ดังนั้นวงเงินจึงเหลือไม่เต็ม 20,000 ล้านบาท เป็นประเด็นที่ทำให้หลายคนมีคำถามว่า.. จะพอให้บริการประชาชนหรือ หากยังมีความต้องการใช้สิทธิ์ในโครงการบ้านประชารัฐอย่างต่อเนื่อง ภายในกรอบเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งก็คือวันที่ 22 มีนาคม 2559 โครงการบ้านประชารัฐจะไปสิ้นสุด ณ วันที่ 22 มีนาคม 2561 แต่วงเงินที่เหลืออยู่ไม่ถึง 20,000 ล้านบาท จะเพียงพอกับความต้องการของประชาชนหรือไม่
ภาคเอกชนแสดงความกังวลต่อประเด็นนี้ว่า หากสินเชื่อบ้านประชารัฐในฝั่งผู้บริโภคหมดวงเงินครบ 40,000 ล้านบาทไปแล้ว การสร้างโครงการบ้านประชารัฐ ออกมารองรับในตลาดย่อมไม่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ในฝั่งผู้บริโภค ที่ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษของโครงการบ้านประชารัฐ
ขณะที่วงเงินอีกส่วนหนึ่งของโครงการ ตามที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ยังมีอีก 30,000 ล้านบาท ที่เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งดูเหมือนยังไม่ขยับมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ มีช่องทางการระดมทุน และมีต้นทุนการเงินที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับหลายบริษัทมีสินค้าที่สร้างไว้รอขาย ซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับเป็นบ้านประชารัฐอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้สินเชื่อโครการตามมติครม.ครั้งนี้มากนัก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการบางรายจึงเสนอว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ หากสินเชื่อพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐ ที่ยังไม่มีการขอใช้สิทธิ์ ให้นำวงเงินที่เหลือนั้น มาเป็นการให้สิทธิ์สินเชื่อบ้านประชารัฐสำหรับผู้บริโภค หรือเป็นสินเชื่อในฝั่งผู้ซื้อที่ได้รับความสนใจสูงแทน น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิ์บ้านประชารัฐ ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยในการซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
สำหรับอัตราดอกเบี้ยบ้านประชารัฐ หากวงเงินกู้ไม่เกิน 7 แสนบาท ปีแรกดอกเบี้ย 0% ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ย 2% ผ่อนต่อเดือน 3 พันบาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย 5% ผ่อนต่อเดือน 4 พันบาท และปีที่ 7-30 ดอกเบี้ยลอยตัว หรือผ่อนต่อเดือน 4-5 พันบาท หากวงเงินกู้เกิน 7 แสนบาท ถึง 1.5 ล้านบาท ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย 3% ผ่อนต่อเดือน 7.2 พันบาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย 5% ผ่อนต่อเดือน 8.6 พันบาท ปีที่ 7-30 ดอกเบี้ยลอยตัว ผ่อนต่อเดือนตั้งแต่ 8.9-9.1 พันบาท