สร้างความตระหนักในสิ่งแวดล้อม....เพื่อหยุดมรดกแห่งมลพิษ!
การดำรงคงอยู่ของชีวิตจำเป็นต้องอาศัยทั้งสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างและขั้นตอนในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม การกระทำของมนุษย์แม้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพสิ่งเเวดล้อมให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ผลกระทบที่ติดตามมาในอนาคตอาจไม่ตรงกับแนวคิดและหลักการเดิมที่ได้ตั้งเอาไว้
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ได้กลายเป็นปัญหาเชิงซ้อน ที่ต้องแก้สมการกันหลายชั้น บริบทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนไม่ได้เป็นเพียงบริบทในมิติเดียวเท่านั้นแต่กลับเป็นการบูรณาการบริบทแห่งปัญหาทั้งทางด้าน (1) เศรษฐกิจ (2) เทคโนโลยี (3) สิ่งแวดล้อม (4) สังคม และ (5) รูปแบบการบริโภคที่หลากหลาย
เมื่อใช้สมองไตร่ตรองด้วยปัญญาเพื่อมองปัญหาทั้ง 5 ด้านข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม จัดเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดเพราะตั้งแต่เกิดจนตายเราต้องยอมรับว่า “สิ่งแวดล้อมคือชีวิตและชีวิตก็คือสิ่งแวดล้อม”
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทางวิชาการนั้นหมายถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งความเสื่อมโทรมนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ
(1) ความร่อยหรอ หมายถึงการที่ทรัพยากรธรรมชาติมีปริมาณลดลงและอาจหมดไปในที่สุดอันเนื่องมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
(2) ภาวะมลพิษ หมายถึง การที่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม จนถึงระดับที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เป็นอันตรายต่อทรัพยากรที่มีชีวิตต่อระบบนิเวศ
สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยนั้นล้วนมาจากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้มีการใช้และการบริโภคทรัพยากรมากขึ้น นอกจากนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผลให้เกิดกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดมลพิษจากกระบวนการผลิตถูกปลดปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมด้วย
กลไกในการสร้างลักษณะนิสัยอันที่เป็นที่ยอมรับว่าจะสามารถคงทนและอยู่ได้นานในจิตของมนุษย์เราเรียกว่า การสร้างให้เกิด “ความตระหนักในสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทางด้านจิตใจให้เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยบูรณาการนำศาสตร์ต่างๆ มาใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
ความตระหนัก ตามความหมายที่อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำตระหนัก (กิริยา) ว่า รู้ประจักษ์ชัด รู้ชัดเจน ดังนั้นความ ตระหนักในสิ่งแวดล้อม จึงหมายถึง การรู้ประจักษ์ชัดหรือรู้ชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความตระหนักในสิ่งแวดล้อมมีความหมายโดยนัยเหมือนกับการมีจิตใต้สำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะความตระหนักเป็นการรู้ที่อยู่ใต้จิตสำนึกตลอดเวลา ครั้งใดที่เกิดปัญหาหรือพบเห็นเรื่องราวที่เรามีความรู้ก็จะดึงจิตใต้สำนึกทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าในภาวะใดก็ตามความสำนึกที่ฝังลึกและถูกต้องนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง
การรู้ประจักษ์ชัดหรือการรู้ชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ถ้าจะใช้คำพูดที่สามารถจดจำได้ง่ายสำหรับบุคคลทั่วไปน่าจะใช้คำว่า “รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ซึ่งการรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามหลักการ คือรู้กว้างและรู้จักการผสมผสานศาสตร์แขนงต่างๆ เข้ามาใช้แก้ปัญหาร่วมกันในทุกๆ ครั้งที่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น
การก่อให้เกิดความตระหนักในสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถแบ่งเป็นลำดับได้ 4 ขั้นตอน คือ
(1) มีความรู้ที่ชัดเจนและซาบซึ้ง หมายถึง เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี สิ่งใดก่อให้เกิดประโยชน์สิ่งใดก่อให้เกิดโทษ และสิ่งใดก่อให้เกิดผลดีและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
(2) มีความรักและความหวงแหน หมายถึงรักและความหวงแหนในสิ่งที่เข้าใจอย่างถ่องแท้สำหรับเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์ และก่อให้เกิดผลดีต่อมนุษยชาติและโลก เช่น ความรักและหวงแหนในความงามของธรรมชาติ ป่าเขา ชายทะเล เกาะแก่ง ต้นไม้ ลำธาร ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
(3) มีความวิตกและห่วงใย หมายถึงรู้สึกเป็นห่วงและกังวลถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นห่วงและกังวลต่อลักษณะนิสัยที่เห็นแก่ตัวไม่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยปราศจากความพอเพียง ความวิตกและความห่วงใยในสภาพภัยแล้งและวิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำซึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อความวิตกและความห่วงใยขยายวงกว้างขึ้น สื่อต่างๆ ก็จะช่วยกันผลัดดันข่าวสารต่างๆออกสู่ผู้รับซึ่งก็คือ ประชาชนทั่วไปทำให้เกิดความรู้สึกเป็นห่วงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย
(4) การปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเพื่อให้เกิดความตระหนักในสิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนทั้ง 3 ข้อ ที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วนั้นเป็นเพียงพื้นฐานที่ก่อให้เกิด ผลทางด้านลักษณะนิสัย แต่ผลทางนามธรรมที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งทางตรงและทางอ้อมในวิสัยที่มนุษย์แต่ละคนพึงกระทำได้
การพัฒนาความตระหนักในสิ่งแวดล้อมให้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ตามแนวคิดของ G. Tyler Miller นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวสหรัฐ ได้แบ่งลำดับของความตระหนักในสิ่งแวดล้อมออกได้ 4 ระดับ คือ
(1) ความตระหนักในเรื่อง “มลพิษและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม” ปัญหาส่วนใหญ่ในระดับนี้เราสามารถสันนิษฐานได้ว่า เกิดจากการไม่จำกัดตัวของความเจริญทางเทคโนโลยีและสภาพความรุดหน้าทางสังคมซึ่งมีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีที่สิ้นสุด จึงสร้างปัญหามรดกแห่งมลพิษทิ้งไว้อย่างมากมาย
(2) ความตระหนักในเรื่อง “การเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์จนเกิดสภาวะความอดอยาก” เราต้องยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเกิดมลพิษ ความเสื่อมโทรมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทวีความรุนแรงอย่างมากในปัจจุบันล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการคือ(1) ปัญหาการเพิ่มประชากรโดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา และ (2) ปัญหาการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างฟุ่มเฟือยของประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุย่อมไม่มีวันที่ผลพวงของปัญหาจะถูกคลี่คลายลงไปได้
(3) ความตระหนักในเรื่อง “โลกและจักรวาล” เป้าหมายของการตระหนักในระดับนี้อยู่ที่สภาพการณ์ใช้เทคโนโลยี และแนวทางของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละประเทศที่นำมาใช้ควบคุม ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหามลพิษและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่ให้ถูกทำลายโดยฝีมือของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ขาดความตระหนักในระดับนี้ แนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ
(4) ความตระหนักในเรื่อง “โลกที่ยั่งยืน” ความตระหนักทั้ง 3 ระดับเป็นมุมมองที่มนุษย์ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของการพิจารณา มนุษย์พยายามแสวงหาสิ่งที่จำเป็นต่อการยังชีพจากโลกตลอดเวลา มนุษย์ไม่เคยยอมรับสภาพว่านั่นคือ ต้นตอแห่งปัญหานานัปการที่หันกลับมาทำลายล้าง ความสุขของมนุษยชาติ การพัฒนาที่ถูกจะต้องอาศัยโลกเป็นศูนย์กลางหรือใช้สิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นศูนย์ของการพิจารณา เราจะไม่มีโลกที่ยั่งยืน หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ตราบจนกระทั่งเราจะร่วมมือกันและทำงานโดยอาศัยกระบวนการผลิตที่รักษาสมดุลทางธรรมชาติมากที่สุด การอยู่รอดและหลักประกันในชีวิตก็จะมั่นคงตามมาซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่โลกที่ยั่งยืนต่อไป
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากความฉลาดปราดเปรื่องของมนุษย์ ได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สภาพจิตใจที่คอยกำกับดูแลพฤติกรรมกลับถูกมองข้ามและไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อเป็นเช่นนี้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เช่น ความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว และการไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ ทำให้ต้องกระเสือกกระสนแสวงหาตลอดชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกมนุษย์ทำลายลงอย่างรวดเร็ว
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นไปในลักษณะที่มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะที่มนุษย์ถูกทำลายโดยสิ่งแวดล้อมเมื่อเป็นเช่นนี้การสร้างความตระหนักในสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อยับยั้งและป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามใหญ่โตเกินกว่าวิสัยที่จะแก้ไขได้
แนวทางที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดต้องเริ่มที่มนุษย์โดยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิด มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ ตระหนักและสำนึกในบุญคุณที่ธรรมชาติหยิบยื่นชีวิตและปัจจัยเกื้อหนุนการดำรงชีวิตให้โดยปราศจากสิ่งทดแทน
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากมนุษย์ ขอเพียงมนุษย์ทุกคนมีความตระหนักในสิ่งแวดล้อม อนาคตชนซึ่งเป็นลูกหลานของเราคงไม่ต้องเผชิญวิบากกรรมจากผลของการกระทำจากมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ขาดสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจนเป็นมรดกแห่งมลพิษที่รอคอยจะมอบเป็นของขวัญซึ่งผู้รับยากที่จะปฏิเสธในวันข้างหน้า
-------------------
ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์
ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยศรีปทุม