Underemployment 101
อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ล่าสุดที่เพิ่งออกมาของเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 1.04% ตัวเลขนี้บอกอะไร?
การที่อัตราว่างงานของประเทศต่ำนั้นแปลว่า ‘ดี’ จริงหรือไม่? อยากจะชวนท่านผู้อ่านมาถกกันในบทความนี้ค่ะ
การที่คนจะถูกจัดว่าเป็นคน ‘ว่างงาน’ ได้ คนๆ นั้นจะต้อง (1) ไม่มีงานทำ แต่ (2) กำลังหางานหรือพร้อมจะทำงาน (ทั้ง (1) และ (2) ต้องจริงจึงจะจัดว่าเป็น ‘ผู้ว่างงาน’ ได้) เพราะฉะนั้นคนไม่มีงานทำ แต่ไม่ได้ต้องการจะหางาน หรือไม่พร้อมจะทำงานก็ไม่ถือว่าเป็น ‘ผู้ว่างงาน’ คนจบปริญญาเอก แต่หางานที่ต้องใช้ทักษะตรงกับระดับที่เรียนจบมาไม่ได้ ต้องมาขายล๊อตเตอรี่ก็ไม่ถือว่าเป็น ‘ผู้ว่างงาน’ คนอยากทำงานเต็มเวลาแต่ไม่สามารถหาได้ต้องมารับงานชั่วคราว ก็ไม่ถือว่าเป็น ‘ผู้ว่างงาน’
เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยมี ‘ผู้ว่างงาน’ จำนวนน้อย หรือมีอัตราว่างงานต่ำ นั้นไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ของตลาดแรงงานของประเทศนั้นจะ ‘ดี’ เสมอไป
การที่จะเข้าใจตลาดแรงงานของประเทศไทยได้ หากดูเพียงอัตราการว่างงานเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถทำให้เรามองเห็นสภาพตลาดแรงงานและปัญหาที่แท้จริงของตลาดแรงงานของประเทศได้ เราควรจะต้องทำความเข้าใจเรื่องของการทำงานต่ำกว่าระดับ Underemployment ซึ่งบอกถึงการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพของแรงงานด้วย โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ให้คำจำกัดความของ Underemployment ไว้โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้คือ
1) Time-related Underemployment (การทำงานต่ำกว่าระดับด้านเวลา) หมายถึงผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับเวลาที่เหมาะสม และผู้นั้นมีเวลาเหลือ และต้องการที่จะทำงานเพิ่ม โดย ILO ไม่ได้กำหนด ว่าระดับเวลาที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ของไทย) ได้ให้คำจำกัดความของผู้ทำงานต่ำกว่าระดับประเภทนี้ว่า เป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการจะทำงานเพิ่ม และกำหนดให้อัตราการทำงานต่ำกว่าระดับประเภทนี้ (Time-related Underemployment Rate) สามารถคำนวณได้จากจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับ หารด้วยจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด
โดยอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับประเภทนี้ของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2559 (ล่าสุด) แม้จะอยู่ที่เพียง 0.7% แต่มีผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ถึง 14.28% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แปลว่าผู้ที่ทำงานน้อยชั่วโมงส่วนใหญ่เป็นพวกทำงานไม่เต็มเวลาแบบสมัครใจ คือทำงานน้อยชั่วโมงแต่ไม่ได้ต้องการหรือพร้อมที่จะทำงานเพิ่ม โดยจริงๆ แล้วอาจมีความเป็นไปได้ว่าความไม่ต้องการที่จะทำงานเพิ่มอาจเกิดจากความเข้าใจว่า ไม่มีงานที่เหมาะสมหรือไม่คิดว่าจะหางานเพิ่มได้ก็เป็นได้
2) Inadequate Employment Situations (การทำงานต่ำกว่าระดับด้านสถานการณ์การทำงาน) โดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึง (1) ผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับด้านความรู้ความสามารถ คือทำงานที่ใช้ความรู้ความสามารถต่ำกว่าระดับความรู้ความสามารถที่ตนเองมี หรือ (2) ผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับด้านรายได้ คือ ทำงานที่ได้รับรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้ โดยผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับด้านสถานการณ์การทำงานนี้ต้องการที่จะหางานที่ดีขึ้นกว่าที่ทำอยู่แต่ไม่สามารถหาได้
โดยการทำงานต่ำกว่าระดับประเภทนี้ ไม่ได้มีนิยามที่เป็นทางการว่าจะวัดค่าได้อย่างไร และอาจวัดไม่ได้ง่ายจากข้อมูลโดยตรงเหมือนกับกรณีผู้ทำงานต่ำกว่าระดับด้านเวลา
หากจะมองว่าการทำงานต่ำกว่าระดับด้านความรู้ความสามารถคือการที่คนรับทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา หรือมีความไม่สอดคล้องของการศึกษาในแนวดิ่ง (Vertical Education Mismatch) พิริยะ ผลพิรุฬ และคณะ (2557) คำนวณไว้ว่าในปี 2551 มีจำนวนผู้มีความไม่สอดคล้องของการศึกษาในแนวดิ่งถึง 35.97% ของจำนวนแรงงาน
นอกเหนือจากเรื่องของ Underemployment แล้ว เรายังควรต้องเข้าใจเรื่องของแรงงานนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการใดๆ เช่น แรงงานในภาคการเกษตร ผู้รับจ้างทำงานชั่วคราวผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้คนเหล่านี้จะถูกจัดว่าเป็น ‘ผู้มีงานทำ’ แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานเหล่านี้มีจะสถานภาพการทำงานหรือคุณภาพชีวิตที่ ‘ดี’
เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ตลาดแรงงานของประเทศไทยโดยมองเพียงอัตราว่างงาน เพียงอย่างเดียวอาจเป็นการมองที่ผิวเผินจนเกินไป การที่จะเข้าใจสถานภาพตลาดแรงงานและปัญหาที่แท้จริงได้ควรจะต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน
--------------------
ดร.วรประภา นาควัชระ
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย