ESG แต้มต่อการลงทุน
เชื่อแน่ว่า จะเป็นศักราชเริ่มต้นในเรื่อง Integrated ESG โดยไม่ต้องฟันธง
ปัจจุบัน คำว่า ESG ที่ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance ถูกเริ่มนำมาใช้ในแวดวงการประเมินสถานะของกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในตลาดทุน
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่รอบด้าน ในมิติที่มิใช่ข้อมูลตัวเลขทางการเงิน ทำให้สามารถล่วงรู้หรือคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการในอดีตหรือที่ผ่านมาแล้ว
การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ของกิจการ สำหรับนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน ที่ทำได้ส่วนใหญ่ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG เป็นประเด็นแยกจากการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นการวิเคราะห์แบบเอกเทศที่มิได้มีส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการเท่าใดนัก
ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่สามารถอธิบายกลุ่มผู้ลงทุนได้เต็มปากว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วยหรือไม่ ซึ่งจากหลักฐานที่ปรากฏ จะเห็นว่า บริษัทที่ได้ระดับการประเมินด้าน ESG สูง หรือได้รับรางวัลในสาขาประเภทเดียวกันนี้ตามแต่จะตั้งชื่อเรียก มีรางวัลบรรษัทภิบาล รางวัล CSR รางวัลความยั่งยืน เป็นต้น กลับไม่ได้มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าบริษัททั่วไปที่มิได้รับรางวัลหรือมิได้รับการประเมินด้าน ESG ที่สูงแต่อย่างใด และยังพบด้วยว่า บางบริษัทกลับมีผลประกอบการที่ขาดทุนหรือมิได้สร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกแก่ผู้ลงทุนเลย
ด้วยเหตุนี้ กระแสของการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหรือการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีการค้นคว้าพัฒนาอย่างขะมักเขม้นในปัจจุบัน
อันที่จริง ปรากฏการณ์ดังกล่าว คล้ายคลึงกับกระแสของการผนวกเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจซึ่งเริ่มขึ้นราวช่วงปี 2549 ที่มีการยกระดับจากกิจกรรมเพื่อสังคมที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและมักเกิดขึ้นภายหลัง หรือเรียกกันว่า CSR-after-process มาสู่การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ หรือเรียกกันว่า CSR-in-process ในปัจจุบัน
เนื่องจาก โจทย์เรื่อง CSR ก่อนหน้านั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ตีความไปว่า ผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเป้าหมาย คือ ‘สังคม’ ทำให้การดำเนินงาน CSR จึงเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อสังคมในรูปของการตอบแทนคืนหรือการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเป็นหลัก ถัดจากนั้น ธุรกิจเริ่มตระหนักว่าโจทย์เรื่อง CSR ที่ส่งผลกับสถานะของกิจการ ผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเป้าหมาย คือ ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ รอบกิจการ ที่มีส่วนได้รับผลกระทบจากการประกอบการ โดยเฉพาะจากกระบวนการหลักทางธุรกิจ ทำให้การดำเนินงาน CSR จึงหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ในรูปของการดำเนินงานที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง CSR กับ ESG อธิบายได้ว่า CSR เป็น ‘ภาคการดำเนินงาน’ ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ขณะที่ ESG เป็น ‘ภาคข้อมูล’ ที่คำนึงถึงผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน นั่นหมายความว่า กิจการที่สามารถดำเนินงาน CSR-in-process ได้ดี ก็ควรจะมีผลการดำเนินงานที่พร้อมต่อการเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุนได้ทันที โดยมิต้องไปดำเนินการอะไรใหม่แต่อย่างใด
ฉะนั้น การที่องค์กรใด ออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนจากการมุ่ง CSR มาเป็น ESG แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะกิจการคงไม่ได้มีความมุ่งประสงค์ว่า จะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มาเป็นการดูแลเฉพาะผู้ลงทุนกลุ่มเดียวแน่นอน
ตรรกะในเรื่องนี้ ยังสามารถใช้พิเคราะห์กับที่บางองค์กรพยายามสื่อสารว่า จะยกระดับจากการทำ CSR มาเป็น SD (Sustainable Development) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กำลังสับสนระหว่างการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการในมิติ CSR กับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งเป้าไปที่สังคมโดยรวมในมิติ SD
วกกลับมาเรื่อง ESG โดยใช้พัฒนาการของ CSR เป็นบทเรียนรู้ จะเห็นว่า CSR-after-process ที่ผลการดำเนินงานจากกิจกรรมเหล่านั้นมิได้เชื่อมโยงกับผลประกอบการทางธุรกิจ ได้พัฒนามาสู่ CSR-in-process ที่ผนวกเข้าสู่กระบวนงานทางธุรกิจและมีส่วนสัมพันธ์กับสถานะของกิจการ ฉันใด
การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ที่แยกส่วนจากการวิเคราะห์ข้อมูลผลประกอบการ จะมีการพัฒนามาสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการที่ผนวกเข้ากับข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อการตัดสินใจลงทุน ฉันนั้น
สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนทั้งไทยและเทศ กำลังเริ่มศึกษาค้นคว้าระบบการประเมิน ESG ในแบบหลังที่เป็นการวิเคราะห์เชิงบูรณาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากสามารถอธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) นั่นหมายความว่า จะเพิ่มแต้มต่อในการสร้างผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนที่ตนเองบริหารอยู่ได้อย่างมากมาย
ปี 2549 สังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่อง CSR-in-process ไปเรียบร้อยแล้ว ปี 2559 เชื่อแน่ว่า จะเป็นศักราชเริ่มต้นในเรื่อง Integrated ESG โดยไม่ต้องฟันธง!