Synergy

Synergy

คนที่มีอุปนิสัยแบบ Synergy จะต้องเป็นคนที่เชื่อในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ใจกว้าง เห็นความสำคัญของความแตกต่างในทางความคิด

คำว่า Synergy นี้ใช้กันมากโดยเฉพาะในวงการธุรกิจปัจจุบัน แต่แนวคิดเกี่ยวกับคำๆ นี้เป็นที่เข้าใจกันดีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังเช่นที่ Aristotle นักปราชญ์สมัยกรีกได้เคยกล่าวไว้ว่า 'The Whole is greater than the sum of its parts.' ซึ่งในยุคปัจจุบัน Stephen R. Covey ได้นำมาดัดแปลงให้เข้าใจง่ายขึ้นเพื่อนำไปเป็นวิธีคิดในการทำงานในสุดยอดหนังสือขายดี The 7 Habits of Highly Effective People ว่า 'Synergy is the combined effect of individuals in collaboration that exceeds the sum of their individual effects' หรืออีกนัยหนึ่งคือ หนึ่งบวกหนึ่งไม่ใช่สอง แต่กลายเป็นสาม สี่ ห้า หรือมากกว่านั้น

ในหนังสือเล่มนี้ Stephen R. Covey ให้ความสำคัญกับ Synergy มากถึงขนาดที่จัดให้เป็น 1 ใน 7 อุปนิสัย (Habits) ของบุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงเลยทีเดียว

คนที่มีอุปนิสัยแบบ Synergy นี้จะต้องเป็นคนที่เชื่อในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ใจกว้าง เห็นความสำคัญของความแตกต่างในทางความคิดและสามารถใช้ประโยชน์จากมัน

ในบทบาทของที่ปรึกษากฎหมายนั้น ผมได้มีโอกาสพบปะและเข้าร่วมประชุมกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการประชุมนั้น ผมจะไม่ได้นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เพราะผู้ทำหน้าที่ประธานจะเป็นลูกความหรือผู้มีบทบาทที่จะต้องตัดสินใจ ส่วนผมเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ผมมีโอกาสได้สังเกตวิธีคิดและวิธีการทำงานของบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมให้ความสนใจมากมาโดยตลอด เพราะสามารถนำข้อสังเกตมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี

งานสำคัญเรื่องหนึ่งของผมในช่วงที่ผ่านมา (และปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ) คือ การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการออกกฎและประกาศต่างๆ (ซึ่งมักจะเรียกกันว่า กฎหมายลำดับรอง) เพื่อให้โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP: Public-Private Partnership) โดยเฉพาะโครงการที่เป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และบริการสาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ในการทำงานเรื่องนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกับท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (คุณดิสทัต โหตระกิตย์) หลายครั้ง เนื่องจากคุณดิสทัตเป็นประธานอนุกรรมการ PPP ด้านกฎหมาย ซึ่งอนุกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองกฎหมายลำดับรองที่ สคร. จัดทำขึ้นโดยมีผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้รอบคอบรัดกุม ก่อนที่จะเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการ PPP เพื่ออนุมัติต่อไป

ในการประชุมร่วมกันแต่ละครั้ง คุณดิสทัตซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้แทนของ สคร. และผมชี้แจงกฎหมายลำดับรองต่างๆ ที่ สคร. จัดทำขึ้น จากนั้นก็จะจับประเด็นตั้งเป็นคำถามให้ชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงทั้งหมดแล้ว จึงขอให้อนุกรรมการท่านอื่นๆ คือ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์สูง ผลัดกันซักถามและแสดงความคิดเห็น

การบริหารการประชุมของคุณดิสทัตในลักษณะนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดได้ทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างสร้างสรรค์ ได้แสดงความคิดเห็นรวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กันอย่างใจกว้างและพร้อมรับฟัง ไม่ผูกขาดความคิดหรือมุมมอง โดยที่คุณดิสทัตก็จะร่วมถกแถลงแสดงความคิดเห็นด้วยโดยตลอด ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆ ไม่ได้ทำตัวเป็นเพียงผู้กำกับหรือผู้ดำเนินการประชุมเท่านั้น

การประชุมในลักษณะนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากความคิดต่างหรือประสบการณ์ต่างอย่างเต็มที่ ไม่มองว่าความแตกต่างทางความคิดหรือประสบการณ์เป็นปัญหา แต่กลับมุ่งจะนำความต่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็จะได้ข้อยุติที่ดีขึ้นและรอบคอบรัดกุมกว่าการให้ผมหรือให้ใครคนใดคนหนึ่งคิดหรือทำเพียงลำพัง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในกิจการของภาครัฐ

การทำงานในลักษณะนี้ของคุณดิสทัตตรงกับ Synergy ซึ่งเป็น 1 ใน 7 อุปนิสัย (Habits) ของบุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงตามแนวคิดของ Stephen R. Covey (The 7 Habits of Highly Effective People)

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา คุณดิสทัตได้รับเลือกให้เป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหมาะสมอย่างยิ่ง ... ขอแสดงความยินดีด้วยครับ