ทุจริตลักลอบดูดทราย
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักคดีความมั่นคง และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สตง.ขอนแก่น ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น ในนาม ศอตช. และสำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการขุดลอกหนองโด หมู่ที่ 6 ต.ดอนหัน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
>>> จากการตรวจสอบพบว่า อบต.ดอนหัน ขออนุมัติทำโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์บ้านดอนน้อย จากเอกสารที่ตรวจสอบพบความผิดปกติ ของสัญญาว่าจ้างทำร่องระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่พบโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์(หนองโด) ในทะเบียนคุมของ อบต.แต่อย่างใด ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ การดำเนินการขุดลอกหนองโด ผู้รับจ้างมีการดูดทรายไปใช้ประโยชน์แทนค่าจ้างแต่จากการตรวจสอบในเบื้องต้นไม่พบว่ามีการขออนุญาตดูดทรายในพื้นที่สาธารณประโยชน์
>>> จากข้อเท็จจริง การดำเนินการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์ หนองโด มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าอาจไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย เป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
>>> การดำเนินการของ อบต.ดอนหัน และผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การจัดทำโครงการ รวมทั้งการควบคุมงาน การตรวจการจ้าง ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หากกรณีเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีนี้หน่วยราชการใน ศอตช. จะนำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมพยานหลักฐานไปสำหรับพฤติการณ์ของผู้ประกอบการจะได้แจ้งให้ผู้ปกครองท้องที่พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งในเรื่องทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครองต่อ
>>> ไปอีกเรื่อง วานนี้ (22 มิ.ย.) โรจน์ สุมงคลกุล ได้เข้าชี้แจงกับ ดีเอสไอ กรณีร้องเรียน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เสนอตั้งโรงผลิตนมไฮสปีด ส่อล็อกสเป็ค และทำให้รัฐเสียประโยชน์ ดีเอสไอ ใช้เวลาสอบสวนถึงเที่ยงยังไม่แล้วเสร็จ นัดสอบปากคำอีกครั้งวันศุกร์ที่จะถึงนี้
>>> ด้าน อ.ส.ค. ส่งคำชี้แจงประเด็นท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หลังขยายเวลาตอบข้อท้วงติงว่า 1.เครื่องจักรปัจจุบันมีกำลังผลิตเท่าไหร่ เหตุใดต้องจัดหาเครื่องจักรใหม่ 2.กรณีเครื่องจักรเดิมขัดข้อง บ.เอจีส รับผิดชอบอย่างไร 3.อ.ส.ค.เตรียมสถานที่รองรับเครื่องจักรใหม่ที่ไหน หรือไม่ 4.ให้ส่งหลักฐานการสืบราคาว่ามีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร จึงสรุปค่าเช่า 420 ล้านบาท 5.เหตุเลือกเชิญผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด เข้าร่วมเสนอราคา และ 6.เมื่อครบสัญญา อาคารต่างๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใน
>>> 1 สัปดาห์ก่อน อ.ส.ค.จะส่งคำชี้แจง โรจน์ สุมงคลกุล ได้เข้าชี้แจงกับ สตง.ในประเด็น ตรวจสอบทุจริตโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุนมของ อ.ส.ค. ที่เจตนาแสวงหาผลประโยชน์จากการเช่าเครื่องจักรและค่าซื้อกล่องนม ผูกพัน 7 ปีวงเงินกว่า 2,500 ล้านบาท
>>> แหล่งข่าว สตง.แจ้งว่า 10 มิ.ย. สตง.ได้รับหนังสือชี้แจงจาก อ.ส.ค. ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 2 อยู่ระหว่างทำความเข้าใจ เพราะประเด็นที่อ.ส.ค.ชี้แจงมานั้น เจ้าหน้าที่ดูแล้วมีความสับสนหลายประเด็น
.............................................
สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี [email protected]