The Fourth Industrial Revolution (6): AI ปัญญาประดิษฐ์พลิกโล

The Fourth Industrial Revolution (6): AI ปัญญาประดิษฐ์พลิกโล

บทความในซีรีส์ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ที่ได้กล่าวถึงเทคโนโลยียุคใหม่ทั้ง 9 ด้าน อันได้แก่

(1) Social Media (2) Mobile Platform (3) AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (4) Cloud Computing (5) Big Data (6) 3D Printing (7) Internet of Things (8) Virtual Reality และ (9) Fintech แล้ว คงทราบดีว่า ทั้ง 9 นวัตกรรมนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลกจากหน้าเป็นหลังมือ (หรือที่เรียกกันว่า Disruptive Innovation) ในยุคต่อไป

เทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของมนุษยชาติในอนาคตคือ “ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวในปัจจุบันได้แฝงตัวไปอยู่ในเทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Search Engine ของ Google โปรแกรมการแท็กรูปภาพใน Facebook โปรแกรมตอบคำถามอัตโนมัติใน Apple (ที่มีชื่อว่า SIRI) รวมถึงโปรแกรมการขับขี่รถยนต์โดยไม่ต้องมีพลขับ (Autonomous Driving) ที่มีอยู่ในรถยนต์หลายยี่ห้อรวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า Tesla

โปรแกรมเหล่านี้ใช้หลักการที่เรียกว่า Deep Learning หรือชุดคำสั่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถจดจำและเรียนรู้ภาพและเสียง รวมถึงสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้จากการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับสมองของมนุษย์ เช่น Google Brain วิเคราะห์รูปหน้าของมนุษย์และแมวจากการศึกษาภาพในวีดิโอ Youtube กว่า 10 ล้านภาพ โดยที่โปรแกรมเมอร์ไม่ต้องสอนคอมพิวเตอร์เลย

AI จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย นั่นเป็นเพราะในด้านโอกาสนั้น ในอนาคต AI อาจสามารถช่วยเหลือมวลมนุษยชาติได้มากจากการที่สังคมโลกโดยรวมกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society ดังนั้น เทคโนโลยีที่สามารถเข้าช่วยเหลือมวลมนุษยชาติในงานสำคัญๆ ด้านการแพทย์ การศึกษา และการค้นคว้าวิจัย จะทำให้วิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

AI เป็นโปรแกรมหนึ่งสามารถวิเคราะห์ฟิล์ม X-Ray ปอดของคนไข้และสามารถวิเคราะห์ว่าเซลผิดปกติเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยมีอัตราผิดพลาดที่ 0% เทียบกับกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีอัตราผิดพลาดมากกว่าที่ประมาณ 7%

หรือจะเป็นโปรแกรมช่วยสืบค้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องและคำพิพากษาในอดีต ทำให้ทนายความและนักกฎหมายศึกษาข้อมูลและใช้เป็นเหตุผลในการทำคดีได้อย่างรวดเร็วประหนึ่งการใช้ทีมผู้ช่วยทนายความกว่า 50 คนในการสืบค้น

และด้วยความเก่งกาจของโปรแกรม AI ทำให้มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่มอง AI ด้วยสายตาไม่เป็นมิตรโดยมองว่า AI จะทำให้เกิดความเสี่ยงสองประการ คือ หนึ่ง มีโอกาสที่จะทำอันตรายให้กับมวลมนุษยชาติ รวมถึงอาจทำให้สูญพันธ์ได้ และสอง มีโอกาสที่ AI จะแย่งงานมนุษย์ในอนาคต

ประเด็นแรก ความกังวลว่า AI จะเป็นดั่งอสุรกาย นำความเสี่ยงมาให้กับมวลมนุษยชาตินั้น เป็นไอเดียในนวนิยายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่กว่า 200 ปีก่อน (Frankenstein เขียนเมื่อปี 1818) ขณะที่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์ไซไฟชื่อดัง เช่น 2001 Space Odyssey, คนเหล็ก Terminator หรือแม้แต่ Matrix ก็ตั้งอยู่บนความคิดพื้นฐานที่ว่า AI เป็นความเสี่ยงของมวลมนุษยชาติทั้งสิ้น นอกจากนั้น นักคิดด้านวิทยาศาสตร์หลายท่าน เช่น Stephen Hawking และ Elon Musk ผู้คิดค้นรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่ใช้ระบบขับขี่อัจฉริยะเองนั้น ต่างก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน

ในความเป็นจริง โอกาสที่หุ่นยนต์จะมีความคิดเป็นของตนเอง รวมถึงคิดต่อต้านมนุษย์ ยังค่อนข้างยากเนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ (1) การที่ AI มีทักษะหนึ่งๆ ที่เยี่ยมยอดไม่ได้ทำให้ AI นั้น สามารถเปลี่ยนความคิดและมองว่ามนุษยชาติเป็นความเสี่ยงที่ต้องกำจัดได้ (2) การที่ AI หนึ่ง ๆ จะสามารถมีทักษะและความรู้ในทุกแขนงวิชาอย่างรวดเร็ว (หรือที่เรียกว่า Intelligence Explosion) นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโปรแกรมหนึ่ง ๆ ถูกคิดค้นมาเพื่องานชนิดเดียวเท่านั้น และ (3) แม้ว่าระบบการเรียนรู้ของ AI จะเรียนรู้จากอดีต แต่จะเรียนก็ต่อเมื่อถูกตั้งค่าไว้ และไม่ได้เรียนรู้ตลอดเวลา

ส่วนในประเด็นที่สอง โอกาสที่ AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ในอนาคตนั้น ประเด็นนี้มีผู้เห็นด้วยจำนวนมาก เช่น Martin Ford ผู้เขียนหนังสือ The Rise of Robots ที่เห็นว่ามีโอกาสที่งานเกินกว่า 50% ในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วย AI เนื่องจาก AI สามารถทำงานประจำได้ดีกว่ามนุษย์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานที่ใช้แรงงานเป็นหลักหรืองานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก็ตาม

นอกจากจะเป็นงานวิเคราะห์ขั้นสูงที่ต้องอาศัยทักษะและองค์ความรู้ (Cognitive) เช่น ด้านการแพทย์ รวมถึงงานค้นคว้าด้านกฎหมาย งานทั่วไปกึ่งทักษะรวมถึงใช้ทักษะต่ำก็มีความเสี่ยงต่อการถูกแย่งงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทำความสะอาด พนักงานขับรถ พนักงานการตลาด งานพิมพ์ดีด รวมถึงการเขียนบทวิเคราะห์เชิงเทคนิค หรือแม้แต่การเขียนข่าวในหนังสือพิมพ์

ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจากงานต่าง ๆ จะถูกแทนที่ด้วย AI มีมากขึ้น แต่บุคคลรวมถึงสังคมสามารถปรับตัวรับการเข้ามาของ AI ได้ในยุคถัดไป โดยมี 3 เหตุผล คือ หนึ่ง หากในอนาคตนายจ้างนำ AI เข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น พนักงานที่ทำงานอยู่เดิมอาจต้องเปลี่ยนทักษะจากเดิมที่เคยทำงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เป็นการควบคุม AI ให้ทำงานตามที่ตนต้องการได้

สอง งานบางอย่างอาจไม่เหมาะกับ AI โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ “สัมผัสของมนุษย์” เช่น แพทย์ (ที่ต้องพบกับคนไข้) นักกายภาพบำบัด ช่างตัดผม และผู้ฝึกสอนด้านกีฬา

และสาม ในอนาคต อาจเกิดธุรกิจใหม่ที่นำเสนอทักษะใหม่ๆ ให้กับมนุษย์เพื่อสามารถที่จะควบคุม AI ได้โดยง่าย นอกเหนือจากระบบการเรียนการสอนเดิมที่มีอยู่ โดยอาจเป็นคอร์ส Online ที่เนื้อหามีการปรับปรุงเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

นับจากในอดีต มนุษย์เผชิญความเปลี่ยนแปลงตลอดมา ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนจากรถม้าเป็นรถยนต์ แต่มนุษย์ก็สามารถก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลง และเป็นนายของเทคโนโลยีได้ทุกครั้ง

เพราะฉะนั้น อย่าได้กลัว แต่จงเตรียมตัวให้พร้อมรับคลื่นแห่งการพลิกโฉมเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า