Startup…SWOT
ก่อนวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้แก่การทำการวิเคราะห์สถานการณ์ โดยเครื่องมือคลาสสิกที่ใช้กัน ได่แก่ SWOT Analysis
หลังจากการปรับทัศนคติและการตั้งธงความคิดถึงไอเดียการทำธุรกิจ Startup ดังที่ชวนคิดกันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ถัดมาที่สำคัญอย่างยิ่งก่อนวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้แก่การทำการวิเคราะห์สถานการณ์ (Situation Analysis) โดยเครื่องมือคลาสสิกที่ใช้กัน ได่แก่ SWOT Analysis
S: Strength ได้แก่ จุดแข็งทางธุรกิจที่มาจากการประเมินศักยภาพองค์กรด้านต่างๆ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่มานาน อาจเล็งเห็นจุดแข็งปรากฏได้ในหลายด้าน และเมื่อมีการทำ SWOT Analysis ก็มักออกมาเป็นลิสต์รายการขนาดใหญ่ที่หลายครั้งทำให้เกิดปัญหาว่าจุดเด่นท่ามกลางจุดแข็งอยู่ตรงไหน และเมื่อหาจุดเด่นไม่ได้ก็ทำให้ยากที่จะกำหนดสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน สำหรับ Startup การจัดลำดับความสำคัญของจุดแข็งมีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อทำการวิเคราะห์อาจไม่มีลิสต์จุดแข็งออกมามากๆ การมีไม่เยอะแต่บอกได้ว่าอันไหนสำคัญจึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนและตลาดให้ความสนใจ
จุดแข็งสำคัญอันดับหนึ่งของ Startup ได้แก่ ทีมงานทั้งคณะผู้บริหารและผู้ให้การสนับสนุนต่างๆ เพราะ Startup อาจยังไม่มีสินค้าหรือประวัติการค้ายาวนาน Startup อาจยังไม่มีแหล่งทุนที่มั่นคง Startup อาจยังไม่มีกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่ Startup มีและต้องมีอย่างโดดเด่นได้แก่ คนลงมือทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และคนเหล่านี้ต้องมาพร้อมจุดเด่นโดยเฉพาะในด้านความคิด (Idea) จึงทำให้เกิดเวทีนำเสนอความคิดความสามารถของคนที่สนใจสร้าง Startup หลายแห่งทั่วโลก เช่นการประกวดแผนธุรกิจ ตัวอย่างงานใหญ่เช่น“Rice Business Plan Competition” โดยมีนักลงทุนทั้งที่เป็นAngelInvestor และ Venture Capital มาฟังและเลือกสรรทีม Startup ที่สนใจเพื่อทำงานด้วยต่อไป
W: Weakness ได้แก่จุดอ่อนขององค์กรในการทำธุรกิจ ในการวิเคราะห์จึงควรตั้งธงประเมินที่สมกับสถานการณ์โดยแนวทางของ Startup เน้นการมองหา Minimum Viable Product หรือผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมเพียงพอที่จะออกสู่ตลาด จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เพื่อการหาสิ่งที่มีจุดอ่อนน้อยที่สุด แต่เป็นสิ่งที่มีจุดอ่อนยอมรับได้ ทั้งนี้เพราะเป็นไปได้ยากที่ธุรกิจ Startup จะดำเนินมาจนมั่นคงและมั่นใจกับตัวสินค้าแล้วว่าจะไม่มีข้อบกพร่องใดๆ หากรอถึงจุดนั้นก็คงยากที่จะไปถึงเป้าหมายการสร้างการเติบโตอย่างสูงมาสะเทือนตลาด การทำงานของ Startup จึงเป็นแนวเรียนรู้และปรับปรุงไปพร้อมกัน แต่เพราะด้วยสภาพแวดล้อมการดำรงอยู่หรือจะเรียกว่าเป็น Ecosystem ของ Startup ทำให้เกิดความยืดหยุ่นรองรับได้เช่นกรณีการซื้อหรือสนับสนุนสินค้าที่เป็น BetaVersion
O: Opportunity การพิจารณาโอกาสเป็นการมองจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยหลักคิดที่ถูกนำมาใช้กันมาก ได้แก่ PESTEL ประกอบด้วยปัจจัยทางการเมืองและนโยบาย , เศรษฐกิจ , สังคม, เทคโนโลยี , สิ่งแวดล้อม, และกฎหมาย ด้วยความที่ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องภายนอกทำให้มีโอกาสส่งผลกับหลายฝ่ายได้ไม่ต่างกัน ดังนั้น การบอกว่ามีโอกาสสำคัญเช่นการเติบโตของความคำนึงเรื่องสุขภาพ สำหรับธุรกิจ Startup อย่างการสร้างซอฟต์แวร์ติดตามและรายงานภาวะสุขภาพรายวัน
สำหรับ Startup แล้วโอกาสสำคัญที่นักลงทุนมองหา ได้แก่ โอกาสที่ตลาดจะขยายตัวได้มากและเร็ว จากตัวอย่างบริษัททำ Software ที่กล่าวไว้ จึงต้องมองต่อว่าเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยและสนับสนุนซื้อหรือนำสินค้านั้นมาใช้แล้วจะมีโอกาสขยายต่อไปถึงกลุ่มอื่นได้อีกหรือไม่ เช่น การพิจารณาต่อถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น IoT (Internet of Things)
T: Threat สุดท้ายเป็นปัจจัยอุปสรรค ซึ่งสามารถวิเคราะห์ตาม PESTEL หรืออีกโมเดลที่สำคัญได้แก่การมองแรงกดดัน 5 ตัว (5 Forces) ตามแนวคิดของ Michael Porter ประกอบด้วยความรุนแรงในการแข่งขัน อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ อำนาจต่อรองของ Supplier ความเสี่ยงจากการมีคู่แข่งเข้ามา และความเสี่ยงจากการเกิดสินค้าทดแทน เช่น กรณีซอฟต์แวร์สุขภาพที่กล่าวไปตอนต้น อาจถูกพัฒนามาให้เหมาะกับการอยู่กับระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต่อมามีความเสี่ยงจากการทดแทนได้แก่การมีนาฬิกาหรือสายรัดข้อมืออัจฉริยะซึ่งช่วยติดตามพฤติกรรมได้ใกล้ชิดกว่า
มองอีกด้านStartup สามารถเตรียมวางแผนพัฒนา Software นี้เพื่อรองรับการผสานเทคโนโลยีทั้งคู่เข้าด้วยกัน แบบนี้กลับจะเป็นการพลิกความเสี่ยงเป็นโอกาสนำหน้าคู่แข่งไปได้ตัวอย่าง Startup ที่มาด้วยแนวนี้ได้แก่ Simplifeyeที่ไปผนวกกับ AppleWatch และเป็นการทำงานเพื่อให้คุณหมอมีข้อมูลติดตามคนไข้ได้
แม้ Startup จะมีความต่างจากธุรกิจปรกติ แต่ก็สามารถนำ SWOTAnalysis เป็นหนึ่งในเครื่องมือคลาสสิกที่เป็นประโยชน์ได้ในวงกว้าง เพียงแต่ต้องเลือกและจัดลำดับให้ได้ว่าอะไรเป็นจุดสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้นในกรณี Startup