ศึกศักดิ์ศรีรถไฟความเร็วสูง ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

จีนกับญี่ปุ่นแข่งกันเกือบทุกเรื่อง
เพื่อสยายปีกบารมีทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งทุกวันนี้ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้
หนึ่งในเวทีที่ต้องแข่งกันอย่างรุนแรง ระหว่างสองยักษ์แห่งเอเชีย คือเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่คนไทยได้รับทราบแต่ยังงง ๆ อยู่ว่าตกลงเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรกับจีนและญี่ปุ่น
เพราะการเจรจาระหว่างไทยกับจีนกว่า 10 รอบสลับเจอกันที่กรุงเทพฯ และปักกิ่ง แต่ดูเหมือนจะยังหาข้อสรุปไม่ได้
บางคนบอกเพราะญี่ปุ่นพยายามจะ “เสียบ” เข้ามาหากเงื่อนไขของจีนไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายไทย
บางคนบอกว่าแม้ระดับนายกฯของสองประเทศจะเห็นพ้องกัน แต่ระดับทำงานตั้งแต่รัฐมนตรีลงไปของทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจจะ “ปรับความถี่” เข้าหากันได้เท่าที่ควร
วันก่อนผมเห็น หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน ของญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องนี้ ทำให้เห็นมุมมองกว้างขึ้นในประเด็นนี้
เขาบอกว่าญี่ปุ่นกับจีนแข่งกันสร้างรถไฟความเร็วสูงไปหลาย ๆ ประเทศ สิ่งที่เกิดในเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร
เช่นสายสิงคโปร์กับมาเลเซีย ก็กำลังจะเปิดประมูลก่อนสิ้นปีนี้ โดยมีเป้าจะให้รถไฟความเร็วสูง ระหว่างสองประเทศคู่รักคู่แค้นนี้ วิ่งได้ในปี 2026 หรืออีก 10 ปีจากนี้ไป
ญี่ปุ่นเสนอสร้างรถไฟหัวกระสุนหรือ Shinkansen และเทคโนโลยีขณะที่จีนกับเกาหลีใต้ ก็แสดงความสนใจจะเข้าร่วมแข่งประมูลกับญี่ปุ่น
รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ จะวิ่งระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านเรา ใช้เวลาไม่เกิน 90 นาที ความยาว 350 กิโลเมตร
ขณะที่รัฐมนตรีคมนาคมญี่ปุ่นบุกไปเสนอถึงสิงคโปร์ จีนก็วาดภาพให้สิงคโปร์เห็นว่าเขาสามารถสร้างเส้นรถไฟฟ้า จากยูนนานทางใต้ของจีนเชื่อมผ่านลาว ไทยและมาเลเซียไปถึงสิงคโปร์ได้
ผมจะไม่แปลกใจเลยถ้าหากทั้งจีนและญี่ปุ่น จะทุ่มสุดตัวเพื่อชนะการประมูลครั้งนี้ ซึ่งคงจะไม่ใช่เฉพาะตัวเลขค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะเสนอให้เจ้าของประเทศเท่านั้น แต่จะมี “ของแถม” ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างอื่นมา “เคลือบน้ำตาล” ให้ข้อเสนอของตนเองมีความหวานหอมกว่าของคู่แข่ง
ไปๆ มาๆ กลายเป็น “ศึกศักดิ์ศรี” ที่ไม่มีใครยอมถอยให้ใคร ไม่ว่าสนามรบแย่งโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นที่อินโดนีเซีย ไต้หวัน อินเดีย ลาว หรือไทยก็ตาม
ความจริงการที่สองยักษ์แห่งเอเชีย แย่งกันนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้เราเป็นเรื่องดี อยู่ที่เราจะสามารถ “สร้างประโยชน์สูงสุด” ด้วยวิเทโศบาย ความเป็นเอกภาพและการประสานทุกฝ่ายของเรา ให้พูดภาษาเดียวกันอย่างต่อเนื่องตลอดได้หรือไม่เท่านั้นเอง