เมื่อเอเชียตื่นตัวกับโลกเศรษฐกิจใหม่
สองอาทิตย์ก่อน วันที่ 6 และ 7 กันยายน ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องการกำกับดูแลกิจการหรือ Corporate Governance
ในงานสัมมนาสองงานในอาเซียน คือ วันที่ 6 ที่บรูไน สัมมนา Capital Markets : Identifying Growth Drivers จัดโดยธนาคารกลางบรูไน พูดเรื่อง ธรรมาภิบาลในเอเชีย วันที่ 7 ที่สิงคโปร์ในงาน PRI in Person พูดในหัวข้อ ก้าวต่อไปของบอร์ดในเอเชีย จัดโดยองค์กร Principles for Responsible Investment ทั้งสองงานมีคนเข้าร่วมมาก ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มาจากทั่วโลก สะท้อนถึงความสำคัญที่นักลงทุนให้กับภูมิภาคเอเชียและธรรมาภิบาล การสัมมนาทั้งสองงานได้ให้ความรู้สึกและข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชีย วันนี้ เลยอยากแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
ความรู้สึกแรกคือ ความสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกให้กับภูมิภาคเอเชีย ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีต่อการลงทุน ศักยภาพเหล่านี้เกิดจากความสามารถของเอเชียที่จะขยายการผลิตและสร้างรายได้ในอนาคต พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนความเป็นเสรีของตลาด ระดับการออมและความมั่งคั่งที่ประเทศในเอเชียมี การศึกษา ผลิตภาพทางการผลิตที่สามารถพัฒนาต่อได้อีกมาก และความเข้มแข็งด้านประชากร โดยเฉพาะอัตราส่วนของประชากรหนุ่มสาวในกำลังแรงงานของเอเชีย ที่สามารถเป็นพลังของการเติบโตในอนาคต ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต
ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาวในโลกขณะนี้อยู่ในเอเชีย และร้อยละ 68 ของประชากรเอเชียอยู่ในวัยทำงาน ประชากรวัยหนุ่มสาวนี้เป็นปัจจัยบวกของภูมิภาค เพราะสามารถเป็นพลังเปลี่ยนสังคมเศรษฐกิจของเอเชียในอนาคตได้ นำไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลไปถึงการเข้าถึงการศึกษาและการสาธารณสุขที่มีคุณภาพของคนในจำนวนที่มากขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการหารายได้และการสร้างความมั่งคั่งในระดับที่สูงขึ้น นักลงทุนจึงมองว่าเอเชียเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากที่สุดในอนาคต
ความรู้สึกที่สอง ก็คือ คนในเอเชียเองโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวก็ตระหนักถึงพลังทางเศรษฐกิจและศักยภาพของภูมิภาค พยายามปรับตัวหรือวางตำแหน่งทั้งในระดับประเทศ และระดับบริษัท เพื่อหาประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้และยกมาตรฐานความเป็นอยู่
ในเรื่องนี้เท่าที่ประเมิน ขณะนี้มีแนวโน้มในเศรษฐกิจ และในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างน้อยสามแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น และจะสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียในอนาคต
แนวโน้มแรก คือ บทบาทของเทคโนโลยี่ที่เศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) ที่ดิจิตอลเทคโนโลยี่ และระบบอินเตอร์เน็ทจะเข้ามามีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิต การใช้จ่าย และในชีวิตประจำวัน ดิจิตอลเทคโนโลยี่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม การแข่งขัน และการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในวิถีการผลิต การใช้ชีวิตของคนทั่วไป และในโมเดลธุรกิจของภาคเอกชน ประเทศที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต จะต้องตระหนักและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้
แนวโน้มที่สอง คือ การใช้ชีวิตและแบบแผนความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ที่จะแตกต่างจากคนรุ่นเดิม เป็นวิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ความเรียบง่าย ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เหตุใช้ผลในสังคม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย โดยมีการสื่อสารทางสังคม (Social media) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี่ในชีวิตประจำวันเป็นตัวขับเคลื่อน สังคมผู้บริโภคในโลกดิจิตอลจะเป็นสังคมของข้อมูล ความโปร่งใส และความไว้วางใจ (trust) และนอกจากการบริโภค พัฒนาการด้านเทคโนโลยี่ก็จะกระทบการผลิตและการให้บริการ นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบของสินค้า โมเดลธุรกิจและการมีงานทำ
ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ การใช้เทคโนโลยี่ในธุรกิจการเงิน หรือ Fintech ที่กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจการให้บริการทางการเงินอย่างสำคัญ จากการปฏิวัติด้านเทคโนโลยี่ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการเงินใหม่ที่ให้บริการเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ แต่ใช้เทคโนโลยี่เป็นตัวขับเคลื่อน และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า สำหรับลูกค้ารายย่อย บริการใหม่นี้ถูกมองว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวดเร็ว และให้ประสบการณ์ด้านบริการการเงินที่ดีกว่าระบบปัจจุบัน ทั้งหมดจึงเป็นแรงกดดันสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจในปัจจุบันให้ต้องปรับตัว ปรับมาใช้เทคโนโลยี่มากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียความสามารถในการแข่งขัน เสียลูกค้า และรักษาความเป็นธุรกิจของสถาบันการเงินให้มีอยู่ต่อไป แต่ถ้าไม่ทำการให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะล้าสมัย ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจจะอยู่ยากและมีปัญหามาก
แนวโน้มที่สาม คือ ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย สงบสุข เป็นระเบียบ มีสิ่งแวดล้อมดี มีระบบการศึกษาดี มีสิทธิเสรีภาพและความมั่นคง ความต้องการเหล่านี้เข้าใจได้ไม่ยากจากปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากในโลกขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การก่อการร้าย ความขัดแย้งที่มีการสู้รบแบบสงครามในหลายประเทศ ความแตกแยกของคนในสังคม การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม คุณภาพของอากาศและอาหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้คนมองหาประเทศหรือพื้นที่ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข และพร้อมที่จะอพยพหรือเปลี่ยนภูมิลำเนา ในอีกด้านหนึ่งความต้องการนี้ก็ได้กลายเป็นความต้องการของคนในหลายประเทศที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นประเทศที่น่าอยู่ ปลอดภัย เพื่ออนาคตของตนเองและลูกหลาน
ตัวอย่างเช่น นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่ถูกจัดอันดับเป็นเมืองน่าอยู่อาศัยอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันห้าปีซ้อน เป็นเมืองที่คนออสเตรเลียภูมิใจและเป็นเมืองที่ใครไปก็อยากอยู่ ในการประชุมที่บรูไน นักธุรกิจท้องถิ่นคนหนึ่งถึงกับบอกว่าอยากพัฒนาบรูไนให้เป็น สวิสเซอร์แลนด์ของเอเชีย โดยใช้ประโยชน์จากความสงบเรียบร้อย ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และความมั่งคั่งที่มีอยู่
สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้วิถีชีวิต การทำธุรกิจ และรูปแบบสินค้าและการให้บริการจะแตกต่างไปจากเดิม
และความรู้สึกที่สาม ก็คือ มีนักลงทุนมากมายที่พร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งตรงกับเป้าหมายการลงทุนสมัยนี้ ดังนั้น ประเทศที่ผู้นำภาคธุรกิจและการเมืองตระหนักเรื่องนี้ สามารถปรับตัวได้เร็ว ก็จะนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่น่าอยู่ ตรงกันข้าม การไม่ปรับตัว จะทำให้ประเทศจมปลักอยู่กับสิ่งเดิมๆ ฉุดรั้งอนาคต และทำลายโอกาสของคนทั้งประเทศ