โอกาสลงทุนในตลาดหุ้น BRIC
โอกาสลงทุนในตลาดหุ้น BRIC
ในปีที่ผ่านมาการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน หรือ “BRIC” อาจเคยเป็นของแสลงไม่น้อยเลยสำหรับนักลงทุน เห็นได้จากผลตอบแทนของดัชนีMSCI BRIC ในปี 2558 ที่ติดลบไปถึง 15.66% (ที่มา: Bloomberg ณ วันที่ 22 กันยายน 2559) แต่สำหรับปีนี้ ตลาดหุ้น BRIC กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยตั้งแต่ต้นปีดัชนี MSCI BRIC ให้ผลตอบแทนไปแล้วถึง 17.54% ทิ้งห่างตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งสะท้อนผ่านผลตอบแทนของดัชนี MSCI World Develop Market ซึ่งอยู่ที่ 4.68% เท่านั้น (ที่มา: Bloomberg ณ 22 ก.ย. 2559) และหากมองไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ BRIC ด้วยแล้ว ตลาดหุ้น BRIC ยังมีโอกาสเติบโตและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสำหรับการลงทุนระยะยาวได้อีกไม่น้อยเช่นกัน
ปัจจัยที่หนุนให้ตลาดหุ้น BRIC ทะยานกลับขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพียงอานิสงส์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) หลังจากประชามติ Brexit เท่านั้น แต่ยังได้ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจจีนและรัสเซียที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว รวมการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งผลดีต่อดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ(PMI Index) ทั้งในประเทศบราซิลและรัสเซีย อีกทั้งปัจจัยสำคัญอย่างการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์มหาศาลในแง่อัตราแลกเปลี่ยนและหนุนให้ยอดส่งออกของ Emerging Market กลับมาอยู่ในแดนบวกและนำเหนือยอดส่งออกของประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างน่าสนใจ
และหากจะมองโอกาสลงทุนใน BRIC เป็นรายประเทศ ประเทศบราซิลแม้จะยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ อัตราการบริโภคในประเทศ และระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอย่างการเมืองในประเทศก็ที่มีเสถียรภาพขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นและการผ่อนคลายนโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดลงส่งผลให้มุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจบราซิลเริ่มเบาบาง โดยล่าสุดมีการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะหดตัวเพียง 3.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง 3.8% ทั้งยังคาดว่า จะกลับมาเติบโต 0.5% ในปี 2560 (ที่มา : IMF ณ 30 กรกฎาคม 2559) ด้านรัสเซียที่ทนทุกข์กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 และยังต้องจับตาความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเช่นเดียวกับบราซิล ก็เริ่มมีสัญญาณบวกชัดขึ้นจากภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกันกับการส่งออกและตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งหากได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากเสถียรภาพของค่าเงินรูเบิลและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปในแดนบวกได้อีก โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียที่อาจหดตัวราว 1.2% ในปีนี้ อาจพลิกไปสู่การขยายตัว 1.0% ได้ในปีหน้า (ที่มา : IMF ณ 30 กรกฎาคม 2559)
ประเทศอินเดียซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัวจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ นโยบายการเงินการคลังของธนาคารกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมือง ผลสำเร็จของการดำเนินการปฏิรูปได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการปฏิรูประบบภาษีใหม่อีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 7.4% ในปี 2559 และขยายตัวที่ 7.4% ในปี2560 (ที่มา : IMF ณ 30 กรกฎาคม 2559) ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน หลายฝ่ายอาจยังมีข้อกังวลในด้านความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจท่ามกลางการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ตลอดจนผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปทานทั่วโลก ผลผลิตส่วนเกินในประเทศ และหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้นในแง่เสถียรภาพของเศรษฐกิจที่เกิดจากดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างจริงจังเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และเชื่อว่าทางการจีนจะยังคงมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ในปีนี้ที่ประมาณ 6.5% - 7%
แม้เราจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จทุกด้านของ BRIC แต่จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และสะท้อนถึงโอกาสเติบโตของตลาดหุ้น BRIC ในอนาคตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันตลาดหุ้น BRIC ก็ยังมีระดับราคาที่ถูกพอสมควรเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เห็นได้จากดัชนี MSCI developed market มี forward P/E ratio สูงถึง17.55 ขณะที่ Forward P/E ratio ของ MSCI BRIC อยู่ที่ 13.63 เท่านั้น (ที่มา: Bloomberg ณ วันที่ 26 กันยายน 2559) จึงอาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้น BRIC เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาวสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และพร้อมกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกจังหวะการลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป
ผู้ลงทุนโปรด “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”