บริหารลูกน้องที่แก่กว่าและฉลาดกว่า
หลายคนบ่นว่าการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำต้องมีความรับผิดชอบมากมาย ยิ่งถ้าต้องไปเจอลูกน้องที่แก่กว่าและฉลาดกว่าก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก
เชื่อว่าหลายท่านย่อมต้องเคยมีประสบการณ์ที่ต้องทำงานกับลูกน้องที่อาวุโสกว่าหรือเก่งกว่าอย่างแน่นอน และก็เชื่ออีกเช่นกันว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำบางคนอาจมีความกังวล วิตก และไม่มั่นใจจนมีผลกระทบกับผลงานไม่มากก็น้อย
และถ้าเผอิญไปเจอลูกน้องที่ทำการท้าทายลบหลู่ผู้นำด้วย คงทำให้ผู้นำต้องรู้สึกแย่แน่นอน บางคนสู้แรงกดดันไม่ไหวพาลลาออกไปก็ม ทำให้เป็นการเข้าทาง ลูกน้องที่อยากยึดตำแหน่งผู้นำแทนอยู่แล้ว เรามาลองช่วยกันคิดดูว่าจะมีกลยุทธ์วิธีการบริหารอย่างไรเมื่อเรามีลูกน้องที่เก่งกว่าและมีอาวุโสรวมทั้งประสบการณ์มากกว่าเรา ทั้งนี้ดูเหมือนว่าเรื่องของวัยหรืออาวุโสน่าจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากพอสมควรในสังคมบริหารของสังคมชาวเอเซียที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับการคาดหวังว่าผู้บริหารและผู้นำน่าจะเป็นผู้ที่มีวัยสูงกว่าลูกน้อง ดังนั้นเวลาที่ผู้นำมีอายุและอาวุโสน้อยกว่าลูกน้อง จึงเป็นไปได้สูงที่ทั้งผู้นำและลูกน้องอาจรู้สึกประดักประเดิดไม่ค่อยลื่นไหลเวลาทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตามสังคมโลกเรากำลังเดินหน้าสู่ความสูงวัยอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้มีจำนวนคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้นและต้องทะยอยกันเกษียณอายุออกไป แต่จำนวนของพนักงานหนุ่มสาวจะมีน้อยลง องค์กรหาพนักงานมาสวมตำแหน่งบริหารได้ยาก ก็จำเป็นต้องแต่งตั้งคนหนุ่มสาวให้มาสวมตำแหน่งบริหารมากขึ้นทั้งๆที่ประสบการณ์ยังมีไม่มากพอ
ปัจจุบันเราจึงได้เห็นคนหนุ่มสาวดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงกันหนาตา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้นำวัยเอ๊าะน่าจะมีความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาและวิธีการในการบริหารลูกน้องที่เก่งกว่า แก่กว่าเอาไว้บ้าง ซึ่งสังคมตะวันตกเองก็มีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นเช่นกัน จึงมีผู้สันทัดกรณีหลายสำนัก ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติได้ออกมาแสดงความเห็นและให้ข้อแนะนำแก่ผู้นำวัยเอ๊าะอยู่เนืองๆ ในสายวิชาการก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ส่วนสายปฏิบัติก็มีนักบริหารและนักเขียนที่ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารฟอร์จูนและฟอร์บส์ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อได้พิจารณาข้อมูลต่างๆดูแล้วก็มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ สามารถสรุปข้อแนะนำมาได้ดังนี้ค่ะ
- ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา จะง่ายขึ้นถ้าผู้นำวัยเอ๊าะหรือวัยใดก็ตามที่มีปัญหากลุ้มใจว่าดูเหมือนตัวเองจะไม่สามารถบริหารลูกน้องที่เก่งกว่าแก่กว่าได้ ยอมรับกับตัวเอง(เสียดีๆ)ว่า ตัวเองมีปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้
- แสวงหาความช่วยเหลือและคำแนะนำ ถ้ามีผู้บริหารระดับสูงกว่าหรือมีโค้ชที่บริษัทจัดจ้างให้ ก็จงเข้าไปขอความช่วยเหลือ เป็นเรื่องดีถ้าท่านมีคนที่ท่านสามารถไว้เนื้อเชื่อใจขอคำปรึกษาได้ การมี “ที่พึ่งทางใจ” จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ตั้งสติได้ และสามารถสงบจิตใจคิดหาทางแก้ปัญหาได้ต่อไป แต่ถ้าไม่มีใครที่ไว้ใจพอให้เป็นที่ปรึกษา งานนี้มีแต่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็ไม่ต้องกลัวหรือท้อใจ เดินหน้าอ่านคำแนะนำข้อต่อไปได้เลยค่ะ
- ยอมรับและให้ความเคารพ ต้องเชื่อมั่นในตนเองก่อนว่าตัวเราต้องมีคุณสมบัติมากพอสมควร มิฉะนั้นองค์กรเขาคงไม่แต่งตั้งเราให้เป็นผู้นำ ส่วนลูกน้องที่แก่กว่า เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เราก็ให้ความเคารพตามอาวุโส พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพให้เกียรติ ไม่จำเป็นต้องไปเบ่งทับหรือทำกร่างเข้าใส่ให้ถูกเกลียดขี้หน้าโดยเปล่าๆปลี้ๆ ยกมือไหว้ก็ยังได้เวลาพบกัน และถ้าเขามีความเก่งในเรื่องใด ก็ยกย่องชมเชยและให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่เก่ง รวมทั้งสนับสนุนและพัฒนาให้เขาได้ก้าวหน้าด้วย แสดงน้ำใจนักกีฬาให้ลูกน้องเห็น
- สร้างคุณค่าและพัฒนาจุดแข็งของตน ในเวลาเดียวกันกับที่ยกย่องให้เกียรติและส่งเสริมลูกน้องที่เก่งกล้าสามารถกว่าเราในบางเรื่อง เราเองต้องแสดงให้เห็นว่าบทบาทสำคัญของการที่เราได้เป็นผู้นำนั้นคืออะไร เช่น เราเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ประสานสิบทิศเก่งมาก เราก็จงสื่อสารกับลูกน้องให้ชัดเจนว่าเขามีหน้าที่ทำอะไรและเรามีหน้าที่ทำอะไร นอกจากนั้นก็จงพยายามพัฒนาตนเองในจุดที่เราไม่เก่ง แต่ลูกน้องเก่งกว่า ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องไปเก่งแข่งลูกน้อง แต่ต้องมีความรู้มากพอที่จะพูดคุย ทำความเข้าใจเรื่องงานและประสานงานกับลูกน้องได้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องอะไรเสียเลย นึกถึงประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีหรือประธานบริษัทใหญ่ๆทั้งหลายสิคะ พวกเขามีลูกน้องที่เก่งกล้าสามารถมากมายหลากหลายสาขา แต่ผู้ที่ต้องรู้รอบด้านมากพอที่จะตัดสินใจก็คือตัวประธานาธิบดีหรือนายกฯ ดังนั้นจงมั่นใจในตนเองตามสมควรและหมั่นพัฒนาตนเองเสมอๆ
- ให้อิสระกับลูกน้องในการทำงานมากพอสมควร ผู้นำวัยเอ๊าะบางคนเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกน้องเคารพนับถือยอมรับตนเองได้ ก็ใช้อำนาจตามตำแหน่งเข้าไปกดดันลูกน้องในทางที่ผิด เช่นไปจู้จี้เรื่องวินัยบางเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือเข้าไปตรวจสอบการทำงานบ่อยๆเสมือนจับผิด ทำให้ลูกน้องเบื่อหน่ายในพฤติกรรมของนายวัยเอ๊าะ เมื่อท่านมีลูกน้องที่เก่งและมีประสบการณ์รู้งานดีอยู่แล้ว จงปล่อยให้เขาได้ทำงานอย่างมีอิสระพอสมควร แค่ตั้งเป้าหมายและมาตรฐานให้เขาก็พอแล้ว จากนั้นมานั่งรอรับผลงานดีๆจากเขาแล้วเอาเวลาไปบริหารคนอื่นดีกว่า สำหรับสัปดาห์นี้ขอแนะนำแต่เพียงเท่านี้ หากเจอลูกน้องที่ตั้งใจท้าทายและเลื่อยขาเก้าอี้เราอย่างจริงจัง คงต้องใช้แม่ไม้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว รออ่านเรื่องการบริหารการเมืองในองค์กรในเร็วๆนี้ค่ะ
สุดท้ายนี้มีข่าวมาปชส. ค่ะ ศศินทร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเดอะ เนชั่นขอเชิญร่วมค้นหาคำตอบเกี่ยวกับโอกาสดีๆของชีวิต และโอกาสทางธุรกิจจากการสัมมนาเรื่อง “สังคมสูงวัย สังคมแห่งโอกาส” ที่ศศินทร์ วันพุธที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 13.00-16.30 น. พบเจ้าของกิจการกระเป๋านารายา เจ้าของแบรนด์โจ๊กบางกอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เว็ลธ์ แมเนจเมนท์ ซิสเท็ม จก. แล้วท่านจะพบว่าคนทุกวัยสามารถเริ่มสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เสมอ และท่านยังจะได้อัพเดตเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมสูงวัย และกลยุทธ์การบริหารคนยุคตลาดแรงงานสูงวัยจากดิฉันและกลุ่มนักวิชาการชาวศศินทร์ สำรองที่นั่งได้ที่ https://sasin-trf-conference-2016.eventbrite.com หรือโทร. 02 218 4072 และ 02 218-3853-4