ซีจีของภาคธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่อง

ซีจีของภาคธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่อง

อาทิตย์ที่แล้ว สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี ได้แถลงผลการสำรวจการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการ

ที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2559 ภายใต้โครงการ CGR หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันไอโอดีได้ทำต่อเนื่องมาแล้วสิบสี่ปี เพื่อประเมินการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ผ่านการสำรวจข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยเป็นการสาธารณะ

การประเมินปีนี้อยู่ในช่วงที่การกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลในภาคเอกชนมีพัฒนาการสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายด้านพร้อมกัน เช่น การออกกฎเกณฑ์ด้านซีจีใหม่โดยหน่วยงานกำกับดูแล การดำเนินการเอาผิดกับผู้บริหารและกรรมการบริษัทที่ทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง การออกแนวคิดใหม่เรื่องแนวปฏิบัติด้านซีจี หรือ CG Code โดยสำนักงาน ก.ล.ต. การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนทางธุรกิจโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเกณฑ์รับรองของ Dow Jones Sustainability Index บทบาทของสถาบันไอโอดีในการพัฒนากรรมการ และผลักดันประเด็นธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ (Advocacy) และบทบาทของนักลงทุนทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศ ที่เฝ้าระวังเรื่องความโปร่งใสและการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน สิ่งเหล่านี้ได้มีผลอย่างสำคัญให้ความตระหนักรู้และความตื่นตัวของบริษัทจดทะเบียนในประเด็นธรรมาภิบาลเพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีความสนใจที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องตามแนวปฏิบัติที่ดีมากขึ้น รวมถึงการมีบทบาทร่วมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาธรรมาภิบาลสำคัญของประเทศผ่านนโยบายและระบบควบคุมภายในที่ดีของบริษัท

พัฒนาการและความตื่นตัวเหล่านี้ เป็นแนวโน้มที่น่าพอใจและเป็นสิ่งที่นักลงทุนติดตามและให้ความสำคัญ ล่าสุด ผลการประเมินของสมาคมบรรษัทภิบาลเอเซีย หรือ ACGA ในรายงาน CG Watch ปี 2016 ที่เผยแพร่เดือนที่แล้ว ที่ประเมินการกำกับดูแลกิจการในสิบสองประเทศในเอเซียได้ประเมินการกำกับดูแลกิจการของภาคธุรกิจไทยในแง่บวก มองว่าประเทศไทยอาจกำลังอยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านซีจีที่สำคัญ พิจารณาจากพัฒนาการที่ได้เกิดขึ้น เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง การออกตัวของนักลงทุนในประเทศในเรื่องธรรมาภิบาล การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ได้เกิดขึ้น พัฒนาการในด้านการเปิดเผยข้อมูล การพัฒนากรรมการและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทเอกชน

สิ่งเหล่านี้ ได้ช่วยให้ระบบนิเวศน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคธุรกิจไทยเข้มแข็งขึ้น พร้อมกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีของบริษัทเอกชนที่มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง

ผลการประเมินในโครงการ CGR ของสถาบันไอโอดีปีนี้ ก็สะท้อนข้อเท็จจริงนี้เช่นกัน โดยคะแนนประเมินของบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ใหม่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน ปีนี้จากจำนวนบริษัทจดทะเบียน 601 บริษัทที่ได้รับการประเมิน คะแนนประเมินเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 78 จากคะแนนเต็มหนึ่งร้อย หรือ 78 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าคะแนนปีที่แล้วที่ 75 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคะแนนปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนในทั้งห้าหมวดที่มีการประเมิน โดยหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คือ หมวดสิทธิผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 92, 9282 และ 74 เปอร์เซ็นต์เป็นลำดับ ส่วนหมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหมวดที่ได้คะแนนประเมินต่ำสุด คือ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 68 เปอร์เซ็นต์

การทำหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการจึงยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนขณะนี้ ทั้งในแง่ที่คณะกรรมการบริษัทต้องวางนโยบายด้านซีจีที่เหมาะสม และเป็นผู้นำของการปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนไทย ความบกพร่องในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการที่เป็นข่าวอยู่เสมอ ก็คือ การไม่ปฏิบัติจริงตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทได้กำหนดไว้ เช่น ข่าวผู้บริหารและกรรมการบริษัทใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น เพื่อหากำไรให้กับตนเอง ซึ่งทั้งผิดกฎหมายและผิดนโยบายด้านซีจีของบริษัทตนเอง เป็นต้น สำหรับประเด็นสำคัญในหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่ยังเป็นจุดอ่อนของบริษัทจดทะเบียนที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ก็เช่น

คณะกรรมการควรพิจารณาทบทวนวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท รวมถึงดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผล ควรกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการแต่ละคนจะดำรงตำแหน่งกรรมการได้ไม่เกิน 5 แห่ง ควรกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนปีในการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไว้ไม่เกิน 9 ปี ควรเปิดเผยกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการประเมินผลงานคณะกรรมการทั้งคณะและรายบุคคล ควรจัดให้มีการประเมินผลงานของคณะกรรมการชุดย่อย ควรจัดให้มีการทำแผนสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ควรเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงสุดหรือ ซีอีโอ ทั้งผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่คณะกรรมการบริษัทจะปฏิบัติและเปิดเผยได้ ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนตามมาตรฐานสากล

ในภาพรวม ผลการประเมินปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีบริษัทจดทะเบียน 455 บริษัท ที่ได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยมี 80 บริษัท ได้คะแนนระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือ ดีเลิศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 บริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเรื่องที่ทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทเล็กสามารถทำได้ มี 195 บริษัทที่ได้คะแนนระดับ 80-89 เปอร์เซ็นต์ หรือ ดีมาก และมี 180 บริษัท ที่ได้คะแนน 70 -79 เปอร์เซ็นต์ หรือ ระดับดี ทั้งหมดนี้จาก 601 บริษัท ที่สถาบันไอโอดีได้ประเมินในปีนี้

นอกจากนั้น ผลการประเมินก็ชี้ว่า บริษัทจดทะเบียนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงินและการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ในเรื่องวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดูแลประเด็นการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวปฏิบัติที่นักลงทุนไทยและต่างประเทศล้วนให้ความสำคัญ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแนวโน้มที่ดีและน่าพอใจ

ต้องขอชมเชยและขอบคุณบริษัทจดทะเบียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้ ซีจี ของภาคธุรกิจไทยมีความก้าวหน้าต่อเนื่อง