ภาษา (ถิ่น) ในอาเซียน
หลายท่านคงมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน ใน 10 ประเทศ
และคงทราบว่า ภาษาราชการของประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ละชาตินั้น มีทั้งความแตกต่างกันและความเหมือน สำหรับประเทศอินโดนีเซีย มีภาษาราชการคือ บาฮาซา อินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) ประเทศมาเลเซีย ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ หรือ ภาษามลายู (Bahasa Melayu) ประเทศฟิลิปปินส์ ภาษาราชการคือ ภาษาฟิลิปปินส์ (Filipino, ฟิลิปิโน หรือภาษาตากาล็อก) ประเทศบรูไน ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu) ประเทศเวียดนาม ภาษาราชการคือ ภาษาเวียดนาม (Vietnamese) ประเทศลาว ภาษาราชการคือ ภาษาลาว (Laotian) ประเทศพม่า ภาษาราชการคือ ภาษาพม่า (Burmese) ประเทศกัมพูชา ภาษาราชการคือ ภาษาเขมร (Khmer) และประเทศไทย ภาษาราชการคือ ภาษาไทย (Thai)
ทั้งนี้ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาคมอาเซียนได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการทำงานของอาเซียน ตามกฎบัตรอาเซียน ข้อ 34 โดยภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้ในระหว่างการประชุม การโต้ตอบทางจดหมาย การจัดทำรายงานการประชุม ผลการพิจารณาและมติที่ประชุมตลอดจนการจัดทำคำแถลงการณ์ และการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ของอาเซียน ซึ่งในประเทศสมาชิกที่กล่าวมาในข้างต้นมีเพียงประเทศสิงค์โปร์ประเทศเดียวที่ใช้ภาษาราชการ เป็น ภาษาอังกฤษ และ เป็นภาษาอาเซียน
นอกจากภาษาราชการ และ ภาษาอังกฤษ (English) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้ง 10 ชาติยังมีภาษาถิ่นที่ประชาชนแต่ละพื้นที่ใช้ติดต่อสื่อสารกัน ยกตัวอย่าง ภาษาในประเทศไทย มีผู้พูดหลายภาษาด้วยกัน โดยมีภาษาหลักคือภาษาไทยมาตรฐาน นอกจากนั้นยังมีภาษาถิ่นย่อย และภาษาอื่น ๆ อีกหลายตระกูลภาษา โดยรวมมีผู้ใช้ภาษาราว 74 ภาษาในประเทศไทยได้แก่ ภาษาไทยภาคกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยโคราช ไทยอีสาน และภาษาไทยภาคเหนือ หรือภาษาไทยล้านนา (คำเมือง) ขณะเดียวกันก็มีภาษาจีนอีกหลายถิ่นย่อย เช่น จีนแต้จิ๋ว จีนกลาง จีนแคะ ภาษาจีนกวางตุ้ง และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย เช่น ตระกูลภาษาไทดำ/โซ่ง มอญ เขมร อ่าข่า กุย/กวย พม่า ไทยใหญ่ ปกาเกอะญอ และภาษามลายูถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาษาถิ่นแต่ละภาษาสะท้อนถึงระบบคิด ระบบความรู้ของมนุษย์ ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งในทางวัฒนธรรมของชาติ และวิถีชีวิต ซึ่งล้วนแต่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่ชุมชนท้องถิ่น ที่สำคัญการรักษาทุกภาษาให้คงอยู่ เปรียบได้กับการรักษามรดกของมนุษยชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้หากศัพท์บางศัพท์หายไป ก็อาจเป็นการสูญเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นๆไปด้วย
เพื่อเป็นการรักษามรดกของมนุษย์ชาติ และสร้างความเสมอภาคทางสังคม ด้านการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้การสนับสนุน “โครงการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษาไทย-มลายูปาตานี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” หรือ “ทวิภาษา”โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาถิ่นของอาเซียน โดยมีโรงเรียนที่เข้าโครงการจำนวน 16 โรงเรียน ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล
สำหรับโครงการทวิภาษามีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและความปรองดองด้วยการเรียนการสอนแบบทวิภาษาที่จัดขึ้นเพื่อกลุ่มคนมลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยการศึกษาวิจัยตลอด 9 ปีที่ผ่านมามีผลวิจัยว่าเด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น และมีพื้นฐานที่ดีในการอ่านเขียนภาษาไทย ควบคู่กับการอ่านและสื่อสารมลายูถิ่น เชื่อมโยงจากสื่อเก่าไปสู่สิ่งใหม่ที่เป็นภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการลงทุนด้านการวิจัยที่มี “แอคชั่น” คือ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ที่สำคัญโครงการทวิภาษาฯ ใช้พลังของภาษาแม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยสังคมและภาษาดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กๆรู้สึกภูมิใจในภาษาถิ่นของตน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ใช้ภาษาที่แตกต่างจากตนเอง คนไทยและคนมลายูจะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากพวกเขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการทวิภาษา จะถูกผลักดันให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยเฉพาะในระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
แม้ที่ผ่านมาการดำเนินงานของทีมวิจัย จะมีเสียงต่อต้าน ด้วยข้อกังวลบางประการ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสถานการณ์ และวัน เวลา สังคมควรเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง และยอมรับทั้งนี้หากมองในแง่ลบโครงการนี้อาจมีผลต่อภาษาถิ่นที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน แต่ถ้ามองในทางบวก เป็นการเก็บภาษามลายูอาไว้ในรูปแบบของภาษาไทย ในขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยให้เด็กจังหวัดชายแดนใต้ในบางพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสทางด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม และ เสมอภาค
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ ที่มีภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างไปจากภาษาและวัฒนธรรมส่วนกลาง ได้แก่ กลุ่มเขมรถิ่นไทย จ.สุรินทร์ กลุ่มขมุ จ.น่านกลุ่มละเวือะ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับการเสนอให้เป็นต้นแบบ (Good Functioning Model) สำหรับการจัดศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาวและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆซึ่งถือเป็นความร่วมมือในระดับอาเซียน
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการอนุรักษ์ภาษาถิ่น และการแก้ปัญหาทางด้านการศึกษา โดยโครงการทวิภาษา ได้รับการยกย่อง และมอบรางวัล International Literacy Day เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี “วันรู้หนังสือโลก” 8 กันยายน 2559 จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)...ที่น่ายินดี และชื่นชมยิ่ง
------------------
ธนชัย แสงจันทร์
เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สกว.