แนวโน้มการกำกับดูแลกิจการที่ดี

แนวโน้มการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ปี 2016 นี้ ต้องถือว่าเป็นปีสำคัญอีกปีของการกำกับดูแลกิจการ หรือ ธรรมาภิบาล

ที่มีพัฒนาการและแนวโน้มที่สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น สะท้อนโมเม็นตั้มของกระแสด้านการกำกับดูแลกิจการที่กำลังมาแรง ในบริบทนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นตัวหลักที่ได้เกิดขึ้น ก็คือ โฟกัสของการกำกับดูแลกิจการ หรือ ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ ที่ได้เปลี่ยนจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น มาเป็นการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ความบกพร่องด้านธรรมาภิบาล เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้บริษัทเสียหายและความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะกระทบนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทมาก เช่น กรณีบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่มูลค่าตลาดของบริษัทสูญหายไปกว่ายี่สิบเปอร์เซนต์จากกรณีที่บริษัทโกงการวัดผลมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือกรณีวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ที่ได้สร้างความเสียหายมากต่อเศรษฐกิจและกระทบประชาชนในวงกว้าง

ความเสียหายเหล่านี้ได้นำไปสู่การตื่นตัวในความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการ หรือ ธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ในเอเชีย กระแสความตื่นตัวนี้เกิดขึ้นกว้างขวางรวมถึงประเทศไทย ขับเคลื่อนโดยบทบาทของทั้งหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุนและบริษัทธุรกิจ ที่ต้องการให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคธุรกิจ ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแล การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเอกชน สำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศ นำไปสู่การยอมรับและความมั่นใจจากนักลงทุน ที่สำคัญ การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเชิงระบบ หรือ systemic risk ที่อาจนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพของประเทศ เช่น กรณีวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐปี 2008 ที่ความบกพร่องด้านธรรมาภิบาล นำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน และเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

สำหรับนักลงทุน การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเอกชนสำคัญต่อผลตอบแทนของการลงทุน เพราะนักลงทุนมองว่าธุรกิจที่ไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน ขณะที่บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการบริหารจัดการที่นำไปสู่ผลประกอบการที่ดีและความยั่งยืนทางธุรกิจ

ในส่วนของบริษัทธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการที่ดีสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจหลายด้าน ในแง่การตัดสินใจ ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ผลประกอบการ และความไว้วางใจที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของความยั่งยืนทางธุรกิจ นอกจากนี้ ธรรมาภิบาลที่ดีสร้างความได้เปรียบในแง่ความสามารถในการแข่งขัน เพราะบริษัทจะได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน บริษัทคู่ค้า ผู้บริโภค และธนาคารที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจของบริษัท กล่าวได้ว่า ธรรมาภิบาลที่ดี เป็นปัจจัยแข่งขันสำคัญในการทำธุรกิจ บริษัทไหนไม่ได้การยอมรับในเรื่องนี้ ก็ยากที่จะได้รับความไว้วางใจ และยากที่จะแข่งขันได้

กระแสความตื่นตัวในทั้งสามส่วนคือ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุนและบริษัท เป็นแรงขับเคลื่อนที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียและในประเทศไทย เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทเอกชนในการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติใช้ ให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล ก็สนับสนุนโดยพัฒนาหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ดี เอาจริงในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาวหรือความยั่งยืนทางธุรกิจ ไม่ใช่มุ่งแต่กำไรระยะสั้น

สำหรับนักลงทุน ความตื่นตัวก็มีมากและพร้อมส่งเสียงแสดงบทบาท สร้างแรงกดดันในฐานะเจ้าของบริษัท (ที่มาจากการถือหุ้น) ผลักดันให้บริษัทที่ตนไปลงทุนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการลงทุน ในกรณีนักลงทุนสถาบัน ก็พร้อมปรับปรุงธรรมาภิบาลของตนเอง ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเงินผู้อื่น ให้มีระบบการทำงานที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส ไม่มีประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของผู้ออมที่ใช้บริการ เหล่านี้คือ ระบบนิเวศน์ของธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไปที่ให้ความสำคัญกับการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจมากขึ้นๆ

ในกรณีของประเทศไทย ปีนี้พัฒนาการด้านธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่น่าพอใจหลายเรื่อง

หนึ่ง คะแนนประเมินด้านซีจี หรือการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยคะแนนปีนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 68 จากร้อยละ 65 ปีก่อนและเป็นการปรับสูงขึ้นในทุกด้าน 

สองจำนวนบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการล่าสุดได้เพิ่มเป็น 754 บริษัท และมี 200 บริษัทได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด 

สาม ความสนใจของกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรมและหลักสูตรการพัฒนากรรมการของสถาบันไอโอดีมีมากขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนถึงความตระหนักของภาคธุรกิจในเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังมีอีกมาก เห็นได้จากกรณีการทำผิดจริยธรรมผิดกฎหมายของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ยังเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น กรณีการใช้ข้อมูลภายในหาประโยชน์เพื่อตนเอง แม้ในบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ยังรุนแรง ปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้งของบุคคลในระดับนำของสังคม ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า ในภาคธุรกิจ เรายังมีช่องว่างมากระหว่างการยอมรับความสำคัญของธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจที่เป็นหลักการเป็นนโยบาย กับการปฏิบัติจริงของเจ้าของบริษัท กรรมการและผู้บริหาร ชี้ถึงความอ่อนแอของผู้นำองค์กรในเรื่องจริยธรรมและความอ่อนแอของวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องจริยธรรม ทั้งสองประเด็นนี้คือที่มาของปัญหาธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นบ่อยในภาคธุรกิจไทย ที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ภาคธุรกิจไทยต้องทำก็คือ ผู้นำองค์กรในระดับเจ้าของบริษัท คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำของประเทศ ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรม ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง เพราะตราบใดที่บุคคลระดับนำขององค์กรยังไม่สนใจธรรมาภิบาล ไม่สนใจความถูกต้อง เอาแต่กำไรมากกว่าธรรมาภิบาล ผู้ตามหรือพนักงานของบริษัทก็จะไม่สนใจธรรมาภิบาลเช่นกัน ทำให้ระบบธุรกิจของประเทศจะเดินต่ออย่างเข้มแข็งได้ยาก นำมาสู่ความอ่อนแอของเศรษฐกิจและของประเทศ นี่คือบทบาทที่ผู้นำธุรกิจของประเทศจะต้องช่วยกันแก้ไข