วิเคราะห์ทีวีดิจิทัลไทย ส่งท้ายปี 2559
ปี 2559 นับเป็นอีกปีที่สื่อไทยที่เผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ซึ่งส่งผลทั้งในระดับ
การปฎิบัติหน้าที่ และในระดับโครงสร้าง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคมและเงื่อนไขต่างๆ ที่รุมเร้าชวนให้มาทบทวนสถานการณ์สื่อสารมวลชนกระแสหลักของไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งพอสังเกตเห็นแนวโน้มที่โดดเด่นได้อย่างน้อยในส่วนของทีวีดิจิทัล
ทีวีดิจิทัล หรือสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเริ่มทดลองออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.และกำลังจะสิ้นสุดกรอบระยะเวลาแรกของการทดลองออกอากาศในสิ้นปีนี้ ตามแผนแม่บทด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 ของ กสทช.
ในส่วนของช่องรายการธุรกิจที่มีสัดส่วนเป็นกึ่งหนึ่งของช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด คือมีอยู่ 24 ช่องจากทั้งหมด 48 ช่องที่ทางกสทช.กำหนด (อีก 24 ช่องที่เหลือแบ่งเป็นช่องโทรทัศน์สาธารณะและช่องโทรทัศน์ชุมชน อย่างละ 12 ช่อง) เรื่องของความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ดูจะเป็นปัญหาหลักของทั้งอุตสาหกรรมนี้ ต้นทุนของการเข้าสู่การประกอบกิจการด้วยวิธีการประมูล ได้ก่อภาระหนักสำหรับผู้ประกอบการหลายรายที่สายป่านไม่ยาวพอ หรือคาดผิดถึงผลตอบแทนจากทีวีดิจิทัล ที่ดูเหมือนจะเป็นแพลทฟอร์มที่หอมหวานเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ขนาดที่สามารถดึงดูดเงินประมูลรวมได้ถึง 50,862 ล้านบาทเมื่อปี 2556 และเป็นความภาคภูมิใจของกสทช. ว่าสามารถหาเงินเข้าประเทศได้สูงขนาดนั้น
หากเรายังพอจำกันได้ถึงที่มาของผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมจากช่องแอนะล็อก (เช่น ช่อง 3, 7, 9) บางส่วนย้ายฐานมาจากโทรทัศน์ดาวเทียม (เช่น เนชั่น สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี ทีวีพูล ) ขณะที่บางรายเป็นค่ายสื่อที่มีProduction House ซึ่งเคยผลิตเนื้อหาป้อนช่องแอนะล็อก (เช่น เวิร์คพอยท์ แกรมมี่ อาร์เอส) และบางส่วนก็ข้ามแพลทฟอร์มมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ (อย่าง ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ อมรินทร์) อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน การขาดทุนสะสมกลับกลายมาเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ดิจิทัลเหล่านี้ มีเพียงไม่กี่รายที่มีผลประกอบการเป็นบวก กลุ่มที่เจอวิกฤติหนักมากๆก็มีวิธีบริหารจัดการแตกต่างกันไป ตั้งแต่ลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่าย ขายหุ้นให้นายทุนใหม่เพื่อสร้างสภาพคล่อง ไปจนถึงปิดตัวเองไปเลย เรียกว่าบาดเจ็บกันถ้วนหน้า ทั้งที่เลือดไหลซิบๆไปจนถึงเสียเลือดอย่างรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้
แน่นอนว่าจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทำให้เกิดการแย่งชิงงบโฆษณาซึ่งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหลักของสื่อ เมื่อครั้งที่มีการกำหนดจำนวนช่องของโทรทัศน์ธุรกิจใหม่ๆ ผู้เขียนได้เคยถามผู้รับผิดชอบหลักที่กสทช.ว่าทำไมต้องเป็น24ช่อง เพราะน่าจะเป็นจำนวนที่สูงและก้าวกระโดดมากเกินไปจากของเดิมที่มีอยู่เพียง 4 ช่องที่พี่งพิงรายได้จากการโฆษณา (คือ ช่อง 3. 5. 7 และ 9 เดิม) ก็ได้รับคำตอบว่าจากการวิจัยและคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ มีเม็ดเงินเพียงพอสำหรับ 24 ช่อง
คำตอบนี้อาจไม่ผิดตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ทว่าสะท้อนความไม่รู้อย่างชัดเจนของผู้พูดเกี่ยวกับสื่อมวลชนประเภทโทรทัศน์ และภูมิทัศน์สื่อโดยภาพรวมที่กำลังปรับเปลี่ยน
ประการแรก ตลาดโทรทัศน์ไม่ได้เหมือนกับตลาดการผลิตและการบริโภคอื่นๆ ต้นทุนแรกของการผลิตเนื้อหาคือต้นทุนสำคัญก็จริงแต่การบริโภคไม่ได้ทำให้สินค้าหมดไป เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถนำมาเผยแพร่ซ้ำผ่านช่องทางอื่นๆหรือในรูปแบบอื่นๆได้อีกในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น อย่างที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์รู้กันดี สินค้าหลักของสื่อโทรทัศน์ไม่ใช่เนื้อหาแต่คือผู้ชมที่ถูกจัดไว้ในรูปของเรทติ้งหรือจำนวนคนดูรายการใดรายการหนึ่งหรือช่องรายการใดช่องหนึ่งณเวลาหนึ่งหรือในภาพรวมต่างหาก ส่วนเนื้อหาเป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเพื่อดึงดูดคนดูให้ได้มากที่สุด เพื่อทางช่องหรือสถานีจะได้สามารถขายโฆษณาตามอัตราของเรทติ้งให้กับเจ้าของสินค้าและบริการได้
ประการที่สอง รสนิยมในการบริโภคเนื้อหาเป็นสิ่งที่ได้รับการบ่มเพาะ และกล่อมเกลามาเป็นระยะเวลานาน เรียกว่าเป็นความเคยชินในระดับวัฒนธรรมก็ได้ ดูง่ายๆ ว่า คนดูทีวีโดยทั่วไปมักจะเปิดช่องที่ดูเป็นประจำค้างไว้ ถ้าเป็นแฟนช่องไหนก็จะติดตามดูเนื้อหาของช่องนั้นเป็นประจำ มากกว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อกระจายการดู แม้ผู้บริโภคเนื้อหาโทรทัศน์ผ่านสื่อใหม่อย่างสมาร์ทโฟน ก็ยังมักมีการตั้งค่าคัดเลือกให้เข้าถึงเฉพาะรายการหรือช่องที่ต้องการไว้ พูดอีกอย่างก็คือ ตลาดของสื่อโทรทัศน์มีการกระจุกตัวของการบริโภคสูง และการปรับเปลี่ยนรสนิยมหรือรูปแบบการบริโภคใช้เวลานาน
แม้ กสทช.จะอ้างว่าได้กำหนดประเภทช่องทีวีดิจิทัลเป็นสามประเภท เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เป็น ช่องข่าวสารและสาระประโยชน์ ช่องรายการเด็กและเยาวชน และช่องรายการทั่วไป หรือวาไรตี้ (มีทั้งความคมชัดสูงและความคมชัดปกติ) แต่ถ้าดูตามการจัดอันดับความนิยมของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลตามเรทติ้งคนดูก็จะเห็นว่า ช่องที่อยู่ใน 5-6 อันดับแรกเป็นช่องวาไรตี้ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือ รสนิยมการดูโทรทัศน์ของคนไทยยังเน้นบันเทิงเป็นหลัก การมีทางเลือกด้านเนื้อหาในแนวทางใหม่เพิ่มเข้ามายังไม่สามารถสร้างส่วนแบ่งของตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาในบริบทที่ผู้บริโภคสื่อมีทางเลือกของเนื้อหาผ่านช่องทางสื่อใหม่อื่นๆอีก
ประการที่สาม ในยุคนี้ ผู้คนถูกแวดล้อมด้วยสื่อสารพัดประเภท และสื่อสารมวลชนดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์กำลังกลายมาเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งมากกว่าเป็นทางเลือกหลักของเนื้อหาอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมีรูปแบบการบริโภคที่ค่อนข้างเฉพาะตัว (customized) มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงเฉพาะเด็กยุคใหม่เท่านั้นที่นิยมบริโภคเนื้อหาที่จัดวางและเลือกได้เองอย่าง การจัดทำเพลลิสท์ (playlist) ของเพลง หรือ รายการทีวีผ่านยูทูป (Youtube) หรือการเข้าดูเฉพาะเนื้อหาที่กลุ่มเพื่อนแชร์มา แต่ผู้ใหญ่ที่ใช้สื่อใหม่เป็นก็มักจะบริโภคเนื้อหาที่แบ่งปันกันมาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เนื้อหาของสื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิมไม่สามารถแพร่กระจายสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลหลายช่องโดยเฉพาะช่องบันเทิงพยายามทำเพื่อต่อสู้แย่งชิงเรทติ้งก็คือ การสร้างความโดดเด่นด้านเนื้อหารายการให้ปรากฏเป็นเอกลักษณ์ที่รับรู้ได้ในกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย เช่น ช่องเวิร์คพอยท์สร้างความโดดเด่นในฐานะช่องแห่งเกมโชว์ ช่อง One เน้นเนื้อหาบันเทิงหลากรูปแบบที่ค่อนข้างท้าทายขนบเพื่อตอบสนองวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ส่วนช่องเนชั่นทีวีเน้นข่าวสาร สารคดี และการวิเคราะห์สถานการณ์ ขณะที่ไทยรัฐทีวีก็มุ่งเป้าไปที่คนดูที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยเนื้อหาที่ผสมผสานทั้งข่าวสารและบันเทิงที่ไม่ใช่ละคร เพราะ ยังมีเจ้าเก่าที่ครองความนิยมในเนื้อหาประเภทนี้อย่างเหนียวแน่นคือ ช่อง3 HD และช่อง 7
การแข่งขันดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถกำกับดูแลตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งจริยธรรมและความรับผิดชอบได้อย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ปรากฏคือ หลายช่องกำลังแข่งกันฉุดรั้งมาตรฐานของเนื้อหาให้ต่ำลงด้วยการพยายามใช้องค์ประกอบแนวปุถุชนสนใจมาเป็นจุดขายหลัก กล่าวคือ เรื่องทางเพศ และ ความรุนแรง ซ้ำร้ายหลายช่องยังไม่ซื่อสัตย์ต่อการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาที่กสทช.กำหนดให้เป็นหน้าที่ในการกำกับดูแลเบื้องต้นของสถานี เพื่อช่วยกลั่นกรองและให้หลักประกันด้านเนื้อหาที่เหมาะสมให้แก่ประชาชน
จากเรื่องราวร้องเรียนด้านเนื้อหาที่ส่งมาที่กสทช. พบว่ามีกรณีจำนวนมากที่เป็นการจัดเรทเนื้อหาผิดคือ เรทเป็น ท. หรือ ทั่วไป ซึ่งสามารถออกอากาศได้ตลอดวัน ทำให้ง่ายต่อการนำรายการมารีรันหรือออกอากาศใหม่เพื่อเพิ่มความคุ้มทุน มีบางกรณีที่เป็นเนื้อหาที่มีความล่อแหลมสูงและไม่เหมาะสมจะออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วยซ้ำ เช่น เนื้อหาการข่มขืนหมู่ หรือ เนื้อหาที่กีดกันและดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่ม ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็ถูกตัดสินว่าผิดกฏหมายและได้รับการเปรียบเทียบปรับทางปกครองไปแล้ว
บางทีการประเมินผลการดำเนินงานของทีวีดิจิทัล อาจจะต้องดูทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือไม่ได้ดูเพียงมูลค่าทางรายได้และความสามารถที่จะจ่ายเงินค่าประมูลให้กับกสทช. แต่พิจารณาไปถึงคุณค่าที่เนื้อหาสามารถสร้างให้กับสังคมได้ด้วย เพราะคลื่นความถีที่ออกอากาศเป็นทรัพยากรสาธารณะ การสร้างประโยชน์ให้สาธารณะผ่านเนื้อหาที่มีคุณภาพและจรรโลงรสนิยมที่ดี ก็น่าจะเป็นอีกตัวชี้วัดที่จำเป็นไม่แพ้กัน