สวัสดิการสังคมถ้วนหน้า : สิทธิประชาชนไทย
แนวคิดเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าปรากฎชัดในสังคมไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ได้เสนอบทความเรื่อง”จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อฉายภาพว่าประชาชนไทยมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิของทุกคนที่สมควรได้รับเสมอหน้ากัน ไม่แยกแยะว่าเป็นคนรวยหรือคนจน หรือเป็นใครก็ตามในประเทศไทย
การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจึงเป็นภาระของรัฐ โดยเป็นการกระจายทรัพยากรของประเทศให้กับทุกคนโดยเสมอภาคกัน ปัจจุบันรัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้าแล้วใน ๓ กลุ่มวัยคือ
๑) สวัสดิการก่อนเกิด ฝากครรภ์ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ดูแลแม่ทุกคน (งบประมาณรวมในระบบหลักประกันสุขภาพ)
๒) สวัสดิการเด็กนักเรียน จัดการศึกษาให้ทุกคน ๑๕ ปี (งบประมาณ สำนักการศึกษาพื้นฐาน กระทรวงศึกษาฯปี ๒๕๖๐ เท่ากับ ๓ แสนล้าน)
๓) สวัสดิการด้านสุขภาพ จัดหลักประกันสุขภาพให้ทุกคน (งบประมาณปี ๒๕๖๐ จำนวน ๒ แสนล้าน ประกอบด้วย ข้าราชการ ๖ หมื่นล้าน ประกันสังคม ๑.๔ หมื่นล้าน และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ๑.๒๓ แสนล้าน)
๔) สวัสดิการวัยแรงงาน เฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมที่รัฐกำหนดให้ได้รับสวัสดิการ บนเงื่อนไขต้องร่วมสมทบเงินเพื่อจัดสวัสดิการร่วมกัน ๓ ฝ่ายคือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง มีกฎหมายบังคับคือกฎหมายประกันสังคม มีกฎหมายสนับสนุนส่งเสริมการออมเพื่อเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานหรือเมื่อเกษียณจากงาน โดยรัฐสนับสนุนทั้งทางตรงโดยการสมทบเงิน หรือโดยอ้อม เช่นลดภาษี ให้ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง (กรณีแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับสวัสดิการทัดเทียมกับแรงงานในระบบประกันสังคม)
๕) สวัสดิการผู้สูงวัย จัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ทุกคนที่ลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพอยู่ที่ร้อยละ ๘๐ ของจำนวนผู้สูงอายุ งบประมาณปี ๒๕๕๙ อยู่ที่ ๗ หมื่นล้าน ประมาณการว่าปี ๖๐ จะอยู่ที่ราว ๗ หมื่นล้าน เช่นกัน
ใน ๓ สวัสดิการถ้วนหน้าคือ การศึกษาเด็ก สุขภาพ สูงวัย ใช้งบประมาณรวมกันราว ๕.๗ แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณรัฐปี ๒๕๖๐ จำนวน ๒.๗๓ ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔.๗ ของงบประมาณปี ๒๕๖๐ นับเป็นการใช้งบประมาณไม่สูงมากเพื่อรับประกันว่าประชาชนทุกคนได้รับผลจากการใช้งบประมาณนั้นอย่างเสมอภาคกันและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน เนื่องจากไม่มีคนที่จะต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย อย่างน้อยเป็นการลดรายจ่ายประชาชน แม้จะยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้ เพราะรัฐไทยยังมีนโยบายจำกัดค่าแรงขั้นต่ำ ยอมให้อุตสาหกรรมค่าแรงถูก เป็นคนกำหนดนโยบายด้านการลงทุนของประเทศ
ประเทศไทยมีแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมมากกว่า ๒๒ ล้านคน ที่ไม่ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เช่น บำนาญเมื่อสูงวัย การพัฒนาฝีมือแรงงาน การว่างงาน การตกงาน การไม่มีงานทำ ค่าเลี้ยงดูบุตร แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังได้รับสวัสดิการอย่างน้อย ๓ สวัสดิการถ้วนหน้า แม้จะมีงานทำหรือว่างงานก็ยังได้รับสวัสดิการที่จัดให้ การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจึงเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน
ประเทศไทยมีจำนวนคนจนลดลง แต่สถานการณ์เรื่องการกระจายรายได้ยังมีความเหลื่อมล้ำ คือรายได้แตกต่างสูงมากระหว่างคนรายได้มากสุดกับรายได้ต่ำสุด คนมีรายได้สูงเนื่องมาจากมีโอกาสมากกว่า เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้เสียภาษีรายได้ ภาษีทางการค้า ธุรกิจ การประกอบการต่างๆ แต่ทุกคนทั้งคนรวยคนจนต่างก็ต้องเสียภาษีบริโภคเช่นเดียวกัน จำนวนคนจนที่มากกว่าจึงเป็นฐานรายได้ภาษีบริโภคที่สูงกว่าด้วย การใช้ภาษีของทุกคนมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้า จึงเป็นการกระจายทรัพยากรกลับให้ทุกคนอย่างเป็นธรรม การจัดสวัสดิการจึงไม่ใช่เฉพาะคนจนแต่จัดสำหรับคนรวยด้วย ทั้งนี้ หากคนรวยประสงค์ไม่รับสวัสดิการดังกล่าวก็ย่อมได้ เช่น คนสูงอายุที่รวยก็ไม่รับเบี้ยยังชีพ หรือไม่ไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ แต่ยินดีไปจ่ายเงินเองที่สถานพยาบาลของเอกชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังนิยมจัดสวัสดิการไม่ถ้วนหน้า จัดให้เฉพาะกลุ่มคนจน คนรายได้น้อย จัดให้ในระยะเวลาจำกัด เช่น
๑) เงินอุดหนุนเพื่อดูแลเด็กแรกเกิด เดือนละ ๖๐๐ บาทจำนวน ๓ ปี ให้เฉพาะคนจน เกณฑ์คือครอบครัวมีรายได้ไม่เกินเดือนละ ๓๐๐๐ บาท ให้ไปลงทะเบียนกับ อปท.และโดยการใช้วิธีการให้ อาสาสมัครพัฒนาสังคม(อพม.) เป็นคนเสนอรายชื่อคนที่ยากจน สมควรได้รับค่าเลี้ยงดู ปี ๒๕๕๙ ใช้งบประมาณ ๖๒๐ ล้านบาท
๒) สวัสดิการช่วยเหลือตามอาชีพ เช่น การช่วยเหลือชาวนา มีหลายนโยบายรับจำนำข้าว ให้เงินช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ให้ไร่ละ ๑๐๐๐ บาท ไม่เกิน ๑๐ ไร่ต่อคน ปี ๒๕๕๙ ใช้งบประมาณ สำหรับชาวนา ๓.๗ ล้านราย ประมาณ ๔ หมื่นล้านบาท การช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ สวนยาง
๓) การช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้ ๕.๔ ล้านคน ให้เงิน ๑๕๐๐ ถึง ๓๐๐๐ บาท ให้ครั้งเดียว ใช้งบ ๑หมื่น ๒ พันล้านบาท
ซึ่งการจัดสวัสดิการเช่นนี้ เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่แน่นอน บางอย่างใช้จำนวนน้อยเช่น กรณีเลือกให้เฉพาะคนจน บางอย่างก็ใช้งบจำนวนมาก เช่น กรณีรับจำนำข้าว จำนำยุ้งฉาง และการดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้ช่วยลดความยากจน และไม่ได้เพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายได้เลย เพราะทุกปีก็จะต้องย้อนกลับมาดำเนินนโยบายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบใดก็ตามจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการรัฐประหาร
การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ครอบคลุมตามกลุ่มวัยดังที่ ดร.ป๋วย ได้กล่าวไว้ จึงควรเป็นทิศทางของประเทศไทยที่จะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้เสมอภาคกัน การโต้แย้งกันว่าการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการใช้งบประมาณสูง ประเทศไทยไม่สามารถกระทำได้นั้น เป็นการให้ภาพเพียงด้านเดียว เพราะหากดูสัดส่วนค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐแล้ว การจัดสวัสดิการถ้วนหน้ายังใช้งบประมาณในสัดส่วนที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมถึงต้องดูเรื่องการจัดหารายได้ของรัฐว่าดำเนินการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีจากความมั่งคั่งต่างๆที่กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มคนรวยเท่านั้น ทั้งภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อนำมากระจายกลับให้ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้า ประเทศไทยใช้เวลากว่า ๒๐ ปีเพื่อออกกฎหมายภาษีที่ดิน ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณอีกประการหนึ่งคือ การใช้งบประมาณรัฐอย่างไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ ให้สวัสดิการมากกว่าประชาชนคือการใช้งบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับ “ข้าราชการ” ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา (๔๗-๕๗) มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ๖ ครั้ง ครั้งล่าสุดก็ในรัฐบาลปัจจุบัน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ขณะที่มีงานวิจัยของสถาบันอนาคตไทย ที่แสดงให้เห็นว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานแต่อย่างใด และยังทำให้เงินเดือนข้าราชการแรกเข้าสูงกว่าของภาคเอกชน ข้ออ้างที่ข้าราชการมักใช้ว่าตนมีสิทธิได้รับสวัสดิการมากกว่าประชาชน เพราะได้รับเงินเดือนต่ำ จึงไม่ใช่เหตุผลอีกต่อไป
(ข้อมูล : http://www.thailandff.org/upload/reports/10%20year%20gov_officer.pdf สถาบันอนาคตศึกษาไทย)
การจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิของประชาชน และควรเป็นทิศทางของประเทศในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสอดรับกับทิศทางกระแสโลกเรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) ที่ต้องขจัดความยากจน ความอดอยาก ทุกคนมีหลักประกันทางการศึกษา สุขภาพ มีอาหาร อากาศ น้ำ เพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสมและยั่งยืน การกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรมในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นวิถีทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเก็บคืนจากคนที่ได้รับไปมาก จ่ายคืนให้กับคนที่มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงทรัพยากร
-----------------
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ