ประเด็นกรรมการบริษัทและแนวโน้มปี 2560
ช่วงต้นปี เป็นช่วงที่หน่วยงานต่างๆ มักจะจัดทำและเผยแพร่ประมาณการแนวโน้มในเรื่องต่างๆ
ทั้งที่เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางให้นักธุรกิจ และนักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจกำหนดแผนธุรกิจและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปีนี้ก็เช่นกัน มีคนแชร์บทวิเคราะห์ลักษณะนี้เข้ามาที่ผมค่อนข้างมาก ทั้งทางอีเมล์ เฟซบุ๊ค หรือ ไลน์กรุ๊ปของสมาชิกและวิทยากร IOD ซึ่งก็มีรายงานหลายชิ้นที่ผมอ่านแล้วชอบ และมีชิ้นหนึ่งที่อ่านแล้วน่าสนใจเป็นพิเศษ จึงอยากนำมาแชร์กับแฟนๆ “คอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” สัปดาห์นี้ นั่นคือรายงานของ World Economic Forum (WEF) เรื่อง The Global Risks Report 2017 พูดถึงความเสี่ยงที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในโลกปีนี้ เป็นประเด็นที่นักธุรกิจและนักลงทุนทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ
รายงาน WEF นี้จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ WEF ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ 750 คนทั่วโลก เพื่อระบุความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในโลกปีนี้ ซึ่งช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่ขยับขึ้นมามีบทบาทสำคัญในโลกได้เปลี่ยนมาเป็นปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม เทียบกับหลายปีก่อนที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจดูจะค่อนข้างสำคัญที่สุด
สำหรับปี 2560 ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด 5 อันดับแรกในโลกในความเห็นของ WEF เรียงตามความน่าจะเกิดขึ้น ก็คือ
หนึ่ง ภาวะภูมิอากาศเลวร้าย โดยเฉพาะกรณีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วจนเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เช่น สภาวะที่อากาศร้อนจัด หรือ หนาวจัด
สอง การอพยพย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ คือการอพยพหนีตายข้ามประเทศจากภัยสงคราม เช่น กรณีผลจากสงครามในซีเรีย ทำให้มีผู้อพยพไปยังประเทศข้างเคียงในตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก จนทะลักล้นไปถึงหลายๆ ประเทศในยุโรป ที่กำลังสร้างปัญหา
สาม ภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเกิดพายุไต้ฝุ่น หรือเฮอริเคนที่รุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ และกระทบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง รอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นพายุเฮอริเคน Matthew คร่าชีวิตชาวไฮติไปนับร้อยคน ขณะที่ ไต้ฝุ่น Meranti ที่พาดผ่านฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีนก็สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ของประเทศไทยเราเอง กรณีมรสุมใหญ่ที่ภาคใต้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
สี่ การก่อการร้ายที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ รอบสองปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีข่าวการโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายเกิดขึ้นบ่อยในหัวเมืองหลักต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Orlando, Brussels, Nice, Berlin, Istanbul เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการก่อการร้ายที่ครอบคลุมไปทุกแห่ง ไม่เว้นแม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จนไม่มีพื้นที่ใดบนโลกใบนี้ ที่จะวางใจได้ว่าปลอดภัยจากความเสี่ยงการก่อการร้าย และ
ห้า อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (IT) โดยเฉพาะการฉ้อโกงและการขโมยข้อมูล ความเสี่ยงด้านนี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งผู้คนและการทำธุรกิจทั่วโลกต้องพึ่งระบบไอทีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ความเสี่ยงด้าน IT ก็ยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีคนร้าย hack หรือขโมยข้อมูลไปใช้เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจหรือการทุจริต รวมถึงการจ้องทำลายหรือล่มระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรหรือบริษัทที่เป็นเป้าหมาย เห็นได้ว่า ความเสี่ยงด้านนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่รวมไปถึงข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศ
อ่านดูแล้วก็คงจะหนักใจ แต่ก็เป็นมุมมองและข้อเท็จจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.weforum.org/reports/the-global-risks-report-2017
ในกรณีของประเทศไทย ทั้งห้าความเสี่ยงนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญติดตาม แม้จะควบคุมการเกิดขึ้นของปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อเรา แม้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สำหรับปัจจัยเฉพาะประเทศไทยเรา ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสามประเด็นที่จะสำคัญต่อการทำธุรกิจ และการทำหน้าที่ของกรรมการบริษัทในปีนี้ ที่ควรต้องให้ความสำคัญ และติดตาม
ประเด็นแรก คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เพราะสำคัญต่อธุรกิจว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ แค่ไหน อะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง สิ่งเหล่านี้สำคัญและจำเป็นต้องอย่างน้อยมีความรู้และคาดเดา (anticipate) ได้
สอง คือ กฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาคทางการที่จะกระทบการทำธุรกิจปีนี้ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในสาระสำคัญได้มีการเพิ่มเติมความผิดในส่วนของการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Misconduct) อย่างเช่นการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Insider Trading) และการเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้ที่กระทำความผิด เหล่านี้เป็นประเด็นที่กรรมการควรทราบ เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
สาม คือ กรณีสหรัฐที่เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ นโยบายของสหรัฐจึงสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลกและธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นการค้าเสรี การกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐโดยมาตรการการคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศอย่างจีนในแง่การค้าและผลที่จะมีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเซีย รวมถึงนโยบายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะกระทบทรัพยากรน้ำมันในโลก ประเด็นเหล่านี้สามารถมีผลกระทบมหาศาลต่อการค้าโลก และการเติบโตของประเทศต่างๆ ในเอเซีย รวมถึงประเทศไทย
เพื่อช่วยนักธุรกิจ และกรรมการบริษัทให้เข้าใจ และเห็นภาพความสำคัญของทั้งสามประเด็นนี้ สถาบัน IOD จะจัดงานเสวนาเรื่อง “Directing in the year of the Rooster: Hot Issues and Outlook for 2017” ในวันนี้คือ วันที่ 23 ม.ค. เวลา 12.00-15.00 น. ที่ห้องบอลรูมโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมแรกของสถาบันในปีนี้
โดยสถาบันได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสามท่านมาร่วมให้ความรู้ คือ คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในประเด็นสาระสำคัญของการแก้ไขพรบ. หลักทรัพย์ฯ และหลักการบริหารกิจการที่ดี (CG Code) ใหม่ของ ก.ล.ต. ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่จะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และประเด็นเศรษฐกิจที่นักธุรกิจควรตระหนักในปีนี้ ตามด้วย รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) ที่จะมาพูดถึงการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Trump และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยจากประเด็นนโยบายต่างๆ ที่ผมได้กล่าวถึง
ก็ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับนักธุรกิจและกรรมการบริษัท โดยสามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่คุณ สาริณี ที่ 02-955-1155 ต่อ 402 หรือ อีเมล์ [email protected] มาก่อนได้ก่อน ก็อยากให้มาร่วมงานนะครับ ถือว่าเป็นการเชิญโดยตรงจากกรรมการผู้อำนวยการของสถาบัน