โปรดทราบ : สำหรับสังคม คดีฉ้อฉลไม่มี 'หมดอายุความ'
เริ่มมีคนบอกว่ากรณี “สินบนโรลส์-รอยซ์” ที่จ่ายใต้โต๊ะให้กับนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่
การบินไทยและ ปตท. นั้นอาจจะมีประเด็นเรื่อง “อายุความ”
ซึ่งแปลว่าปลาใหญ่จะลอยนวล และแม้จะรู้ตัวว่าใครเป็นคนฉ้อฉลรับสินบน ก็เอาผิดอะไรไม่ได้
เริ่มมีคนบอกว่าคณะกรรมการที่ฝ่ายบริหารปัจจุบัน ของสองรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นมาเป็นเพียง “สอบข้อเท็จจริง” เท่านั้นไม่เกี่ยวกับการหาคนผิดมาลงโทษ
เริ่มมีคนบอกว่าแม้จะมีตำแหน่งแห่งหนเกี่ยวโยง กับสองหน่วยงานนี้ในอดีต ในช่วงที่มีการยอมรับโดยโรลส์-รอยซ์ ว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะกันอย่างชัดเจน แต่ “ก็จำอะไรไม่ค่อยได้” แล้ว
บางคนบอกว่าแม้ในเอกสารของศาลอังกฤษ และหน่วยปราบคอร์รัปชันของอังกฤษที่มีชื่อว่า Serious Fraud Office (SFO) มี “คนของรัฐบาลไทย” และ “รัฐมนตรีช่วย” คนหนึ่งติดต่อเชื่อมโยงอีกทั้งยัง “กินดินเนอร์” กับตัวแทนของฝั่งจ่ายสินบนแต่ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นรัฐมนตรีช่วยคนไหน เพราะอาจจะมีรัฐมนตรีช่วยหลายคน ดังนั้นจึงต้องให้ SFO และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐที่มีส่วนในการสอบสวนเรื่องนี้ชี้ชัด ๆ ว่ามีชื่อเสียงเรียงนามอะไร ฝ่ายสืบสวนและสอบสวนของไทยจึงจะกล้าฟันธงว่าใครต้องรับผิดอย่างไร
ฟังดูเหมือนความกระตือรือร้นของฝ่ายไทยที่จะ “จับให้มั่น คั้นให้ตาย” นั้นเบาบางเหลือเกินทั้ง ๆ ที่ผลการสอบสวนที่อังกฤษและสหรัฐ มีรายละเอียดมากมายที่นำไปสู่การจับเอาคนผิดมาลงโทษ ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธา ในกลไกของการปราบโกงของไทยได้
หากเขาระบุถึงขั้นว่ารัฐมนตรีช่วยที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันนั้น ปี พ.ศ. นั้นไปกินข้าวกับเจ้าหน้าที่ของโรลส์-รอยซ์และ “ตัวกลาง” วิ่งเต้นเรื่องนี้แล้ว นักสอบสวนปราบโกงของไทยยังไม่อาจตรวจสอบด้วยตนเอง ต้องขอทุกอย่างจากฝรั่ง ก็คงจะคาดหวังผลการสอบสวนอะไรไม่ได้มากนัก
SFO ของอังกฤษและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่สอบสวนเรื่องนี้จนจับคนให้สินบนได้คาหนังคาเขา สารภาพเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างละเอียดเช่นนี้ คงจะมีคำถามเหมือนกันว่ามือปราบคอร์รัปชันของไทยเรา จะรอแค่ขอข้อมูลจากเขาอย่างเดียวหรืออย่างไร
คำว่า “หมดอายุความ” เป็นผีหลอนคนไทยไม่น้อย เพราะเคยเกิดกรณีที่ใช้กลเม็ดนี้ ช่วยคนโกงมาในหลายกรณีที่โจ๋งครึ่มมาแล้ว
สำหรับคนไทยที่ต้องการเห็นการเอาจริงเอาจังในการปราบคนฉ้อฉล คำว่า “หมดอายุความ” ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบโกง จะใช้เป็นการไม่ทำความจริงทุกสิ่งอันให้ปรากฏกับสาธารณชน
เพราะแม้กฎหมายจะมีประเด็น “หมดอายุความ” แต่ความสงสัยคลางแคลงของสังคมไม่มีคำว่าหมดอายุความแน่นอน ดังนั้นการสอบสวนเรื่องนี้ จึงต้องยึดเอาหลักของการทำหน้าที่ตอบคำถามของประชาชนทุกข้อ
ต้องเปิดให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมในการตรวจสอบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มิใช่อ้างว่าคณะกรรมการชุดแรกเป็นเพียงเพื่อ “หาข้อเท็จจริง” เท่านั้นจึงจะมีกรรมการเฉพาะจากคนภายในเท่านั้น
ต้องรายงานประชาชนอย่างน้อยทุกสัปดาห์ว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร การสอบสวนภายในไปถึงไหน การขอข้อมูลจาก SFO และกระทรวงยุติธรรมตลอดจนถึงการขอข้อมูลเพิ่มเติม จากโรลส์-รอยซ์ เองมีความคืบหน้าอย่างไร
ข้อมูลที่เปิดเผยจากศาลอังกฤษและ SFO ยังละเอียดเพียงนี้ จึงเชื่อได้ว่ารายงานภายในจะบอกจะแจ้งว่าใครรับเงินจากใครเท่าไหร่เมื่อไรแน่นอน
เรื่องนี้ไม่ได้สลับซับซ้อนหรือลึกลับอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องถามว่า “มีมูล” หรือไม่ และไม่ต้องหวั่นว่ามีการ “วิ่งเต้น” ให้ระงับการสอบสวนหรือไม่ เพราะการสอบสวนของฝรั่งเอาเรื่องจากที่มืดออกมากลางแดดแล้ว
ใครในเมืองไทยที่พยายามจะ “ล้มคดี” หรือปิดบังอำพรางก็รังแต่จะกลายเป็น “ผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิด” เท่านั้นเอง
ขอย้ำครับว่าสังคมที่พัฒนาที่ประชาชนตื่นตัวแล้ว คำว่า “หมดอายุความ” ใช้ไม่ได้ครับ