คุกลับซีไอเอในไทย กับ คนที่กำลังจะเป็นรอง ผอ. CIA

คุกลับซีไอเอในไทย กับ คนที่กำลังจะเป็นรอง ผอ. CIA

ทางการไทยปฏิเสธมาตลอดว่า หน่วยสืบราชการลับหรือ CIA ของอเมริกาไม่เคยมี “คุกลับ”

 ในดินแดนของไทย

แต่ข่าวจากสหรัฐหลายกระแสยืนยันตรงกันว่าเรื่อง “black site” หรือ “คุกสีดำ” มีจริง และเป็นสถานที่สำหรับการกักขัง และสืบสวนนักโทษหรือผู้ต้องสงสัยที่อยู่นอกอเมริกา

ทำไมต้องตั้งศูนย์กักกันอยู่นอกสหรัฐ? เหตุผลหนึ่งคือเจ้าหน้าที่มะกันอาจทำอะไรที่กฎหมายในอเมริกาห้าม แต่ทำประเทศอื่นในรูปแบบ “ลับ” ก็อาจพ้นจากสายตาของคนทั่วไป และไม่เข้าข่ายที่จะถูกตรวจสอบได้

แต่คนที่เขาติดตามเรื่องเหล่านี้มาตลอดก็ยืนยันว่า “คุกลับ” ในไทยนั้นมีจริง และเจ้าหน้าที่เป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ในสมัยนั้นคือคุณ Gina Haspel

วันนี้ที่ชื่อเธอเป็นข่าวเพราะได้รับเสนอชื่อเป็น “รองผู้อำนวยการซีไอเอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่โตมีบทบาทสำคัญในกลไกของการหาข่าวกรองของสหรัฐ

ที่เธอเป็นข่าวไม่ใช่เพราะทำเนียบขาวประกาศเป็นเรื่องใหญ่ แต่มาจาก Amnesty International หรือ “องค์กรนิรโทษสากล” ที่คอยเก็บข้อมูลและเกาะติดพฤติกรรมทั่วโลก ที่เกี่ยวกับการทำอะไรที่ผิดกติกาว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของคน

พอมีชื่อว่าคุณจิน่า เฮสเพล ได้รับการเสนอชื่อเป็นเบอร์สองของซีไอเอ AI ก็ไม่รอช้า ออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งเธอไปในตำแหน่งนี้เพราะ “อาจจะขัดขวางต่อการสืบสวนข้อกล่าวหา ว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัยและ “enforced disappearance” จาก “คุกลับ” ในไทย

คำว่า “enforced disappearance” เป็นศัพท์จงใจทำให้เรื่องร้ายแรงเป็นภาษาทางการ ที่ฟังประหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แปลตรงตัวคือ “การหายไปด้วยการถูกบังคับ” หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ “ถูกอุ้มหายไป” ซึ่งต้องถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศและจะต้องหาผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำเช่นนั้น

แถลงการณ์ของ AI บอกว่าแทนที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเสนอชื่อเธอไปนั่งตำแหน่งสูงในซีไอเอ ก็ควรจะหันมาสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ “คุกลับ” ในไทยและข้อหาที่ว่าเธอได้ทำลายหลักฐานที่เกี่ยวกับ “อาชญากรรมดังกล่าวภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

แปลว่ากลุ่มผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนระดับสากล ต้องการให้เกิดความกระจ่างในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ หากตั้งผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่ากระทำในสิ่งที่น่ารังเกียจเช่นนั้น แล้วยังสามารถไปดำรงตำแหน่งอาวุโสในซีไอเอได้ ก็ย่อมทำให้ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายสลายหายไปต่อหน้าต่อตา

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ ถ้อยคำของทรัมป์ที่พูดก่อนหน้านี้ ว่าเขาได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงขององค์กรที่เกี่ยวกับข่าวกรองและราชการลับ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การใช้วิธีทรมานนักโทษและผู้ต้องสงสัยนั้น “เป็นวิธีการที่ได้ผล”

เป็นการตอกย้ำว่าทรัมป์อาจจะสนับสนุน ให้มีการใช้วิธีผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับในข้อหาที่สหรัฐตั้งกับผู้คนทั่วโลก

อีกคำหนึ่งที่ทรัมป์ใช้บ่อยคือ “extreme vetting” สำหรับผู้เข้าประเทศซึ่งแปลว่าเป็นการตรวจอย่างเข้มข้นสุดฤทธิ์ ซึ่งหากทำเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ก็อาจมีเหตุผลฟังได้แต่ หากใช้เพื่อการกีดกันและเลือกปฏิบัติผู้บริสุทธิ์ ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรงได้

ผมคิดว่าคนไทยก็อยากจะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “คุกลับซีไอเอ” ในไทยนั้นมีจริงหรือไม่อย่างไร? ใครอนุญาตในยุคใด? และอยู่ภายใต้ข้อตกลงอันใดระหว่างสหรัฐกับไทย? มีการใช้วิธีการทรมานที่โหดร้ายทารุณเกินมนุษย์จริงหรือไม่?

เมื่อครั้งที่มีข่าวนี้ออกมาใน Washington Post เมื่อสองสามปีก่อน เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐปฏิเสธข่าวนี้ ดูเหมือนจะมีการพานักข่าวไปยังจุดที่ระบุทางอีสาน แล้วบอกว่าไม่เห็นมีอะไร

แน่นอนครับวิธีนี้จับผิดอะไรไม่ได้ เพราะมีหรือที่หน่วยงานเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการลับระดับโลกอย่างซีไอเอ หากทำอะไรที่ถูกกล่าวหาจะทิ้งร่องรอยอะไรเอาไว้ ให้นักข่าวกลุ่มใหญ่โตที่ถูกนำทางเข้าไปโดยเจ้าหน้าที่จับได้คาหนังคาเขาหรือ?

ตราบเท่าที่ยังไม่มีความกระจ่างจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ความสงสัยคลางแคลงก็จะยังดำรงอยู่ในเสื่อมคลาย โดยเฉพาะเมื่อคนที่เคยรับผิดชอบเรื่องนี้ ไปนั่งในตำแหน่งเบอร์สองของซีไอเออันลี้ลับซับซ้อน!