หนังสืออัตชีวประวัติที่ให้แรงบันดาลใจ
“สองมือแห่งศรัทธา” (Gifted Hands) อัตชีวประวัติเบน คาร์สัน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดสมองชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันผู้มาจากสลัม เป็นหนังสือที่น่าสนใจทั้งในแง่ชีวิตคนที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง และในแง่ศิลปะของการเรียนรู้ และการต่อสู้ชีวิตที่ยากลำบาก ให้ข้อคิด แรงบันดาลใจแก่เยาวชนและคนทั่วไปได้อย่างมีพลัง
เบน คาร์สัน เป็นคนร่วมสมัยกับเรา เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาและพี่ชายอีกคนหนึ่งมาจากครอบครัวยากจน มีแม่ดูแลอยู่คนเดียว แม่เป็นคนรักอ่านหนังสือ ฉลาด กล้าต่อสู้ชีวิตและเลี้ยงลูกเป็น เธอช่วยเบนและพี่ชายของเขาให้ภูมิใจ มั่นใจในตนเอง สนใจการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้เบนเชื่อมั่นว่าเขาสามารถเรียนรู้ที่จะทำอะไรทุกอย่างที่คนอื่นทำได้ แม่ขอให้ลูกดูรายการทีวีลดลงเหลือแค่สัปดาห์ละ 3 รายการ และต้องไปยืมหนังสือมาอ่านสัปดาห์ละ 2 เล่ม ทำให้ทั้งพี่ชายเบนและเบนเป็นคนรักการอ่านและเรียนหนังสือได้ดี ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งคู่ เบนสอบชิงทุนได้ไปเรียนคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยระดับสุดยอด ได้เป็นหมอผ่าตัดที่มีชื่อเสียง ที่มีคนผิวดำยากจนน้อยคนมากที่จะฝ่าด่านที่สูงลิ่วนี้ไปได้
หนังสือเล่มนี้หมอเบนเขียนแบบรำลึกความหลัง โดยมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งช่วย เป็นเรื่องเล่าแบบง่ายๆ อ่านสนุก เหมือนกับนวนิยาย แต่ก็มีความสมจริง ผู้อ่านได้รับรู้ประสบการณ์ ปัญหา และความคิดในหลายขั้นตอนของชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่น กว่าที่หมอเบนจะแก้ไขปัญหาปรับปรุงบุคลิกนิสัยความคิดของตนเอง ผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ เช่น การที่เขาเคยเป็นคนอารมณ์ร้อน เมื่อโกรธมีปฏิกริยาโต้ตอบแบบใช้ความรุนแรง, การเรียนบางวิชาไม่เข้าใจและความกดดันว่าตนเองคงเรียนไม่จบหรือเรียนไม่ได้ดีอย่างที่แม่และตัวเองคาดหวัง การถูกรังเกียจสีผิว ปัญหาความยากจนขาดแคลน ฯลฯ
เรื่องเล่าช่วงวัยเด็กและวัยนักศึกษานั้น ให้บรรยากาศที่ชัดเจน มีรายละเอียดด้านเหตุการณ์ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่น่าสนใจสำหรับเยาวชนและคนทั่วไปจะได้เรียนรู้ เวลาเราอ่านประวัติคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต บางทีเรามักคิดว่าเพราะเขาฉลาด โชคดี มีคนช่วย หรือพระเจ้าช่วย แต่ในชีวิตจริงคนอย่างเบนก็เคยโง่ในบางเรื่อง เคยโชคร้าย ต้องพึ่งตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเองหลายครั้ง และเขาต้องอ่านศึกษาค้นคว้าทำงานหนักมาก กว่าที่เขาก้าวไปในแต่ละขั้นตอนในชีวิตได้
สิ่งที่หมอเบนได้เรียนรู้มากที่สุดในวัยเด็กน่าจะเป็นทัศนคติในทางบวกสร้างสรรค์ และความใจกว้างจากแม่ของเขา การอ่านหนังสือซึ่งรวมทั้งการอ่านพระธรรมสุภาษิตจากคัมภีร์ไบเบิ้ล การเล่นดนตรี การมีแม่ผู้คอยให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา รวมทั้งการมีลุงป้าผู้ช่วยเหลือ ได้พบครูดี บรรณารักษ์ดี เบนศรัทธาในพระเจ้า และการทำดีช่วยเหลือกันตามคติศาสนา ซึ่งคงมีส่วนช่วยให้เขาเลือกทางเดินที่จะพัฒนาตัวเองและเป็นคนดี มากกว่าที่จะหลงทางเหมือนเด็กผิวดำจากครอบครัวยากจนส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีปัญหาการเรียนด้วย
มองในแง่สังคมแล้ว สังคมอเมริกันช่วงหลังสงครามโกลครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและพยายามสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ แม้จะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาการเหยียดผิว แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง ให้มีการแข่งขันกันตามความสามารถส่วนบุคคล รวมทั้งรัฐ/ประชาคมท้องถิ่นในสหรัฐฯ สนับสนุนคนที่เรียนเก่งและเอาการเอางาน ทำให้คนอย่างเบนมีโอกาสได้ทุนเรียน มีโอกาสได้พัฒนาสติปัญญาความสามารถของเขาได้อย่างเต็มที่
หมอเบน เป็นคนที่พยายามจะเรียนรู้จักตัวเองว่าเขาถนัด เขาชอบอะไร ทำให้เขาเลือกอาชีพและฝ่าฝันก้าวไปสู่จุดสุดยอดของอาชีพนั้นได้ ในช่วงวัยหนุ่มที่เขาไปทำงานในภาคฤดูร้อนเพื่อหาเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เขาคิดเป็น คิดสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบ สามารถพัฒนาวิธีทำงานง่ายๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ เมื่อเรียนจบมาทำงานเป็นหมอ เขาก็มีความกล้าที่จะเรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่ๆ เช่น การผ่าตัดกรณียากๆ หลังจากศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว
ในช่วงที่เบนประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน เขาเขียนแสดงความเชื่อมั่นตัวเอง ภูมิใจในตัวเองเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่ถึงกับโม้มาก ในกรณีที่เขาผ่าตัดล้มเหลว เขาเขียนแสดงความสะเทือนใจ เสียใจ ไว้ค่อนข้างดี พยายามมองแบบยอมรับชะตากรรมว่า ถ้าเขามาไม่รับผ่าตัดกรณีนั้นๆ คนไข้ก็จะต้องเสียชีวิตอยู่นั่นเอง เขายังช่วยทำงานให้โบสถ์และชุมชน เป็นกรรมการคัดเลือกเด็กผิวดำยากจนที่สมัครชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัย
หมอเบนเขียนวิจารณ์ว่า สังคมอเมริกันชอบเห่อคนที่เก่งทางกีฬาหรือการแสดงที่ประสบความสำเร็จมากเกินไป ทำให้พวกเด็กๆ ใฝ่ฝันอยากจะตามรอยคน 2 อาชีพนี้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว มีเพียงคนน้อยมากที่จะทำได้ เขาเสนอว่าเด็กส่วนใหญ่ควรจะต้องสนใจอ่านหนังสือ สนใจการเรียนให้ได้ดี จะมีโอกาสเรียนได้ดี ได้งานที่ดี มากกว่าที่จะไปมัวเพ้อฝันอยากเป็นนักกีฬาหรือนักแสดงชื่อดัง
เบนยังกล่าวถึงว่า แม้อาชีพหมอผ่าตัดสมองที่มีส่วนทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมาก็เพราะเป็นกรณีที่สาธารณชนสนใจ แต่มีคนผิวดำคนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น เป็นวิศวกรที่เก่ง แต่คนไม่ค่อยได้พูดถึง ไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าที่ควร
เบนมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น แม้ว่าเขาจะทำงานหนัก มีเวลาให้ครอบครัวน้อย แต่ภรรยาซึ่งเป็นปัญญาชนผิวดำด้วยกันก็เข้าใจและรับมือได้ดี หลังจากเขาประสบความสำเร็จ เขายังคงพยายามช่วยเหลือให้ทุนเด็กผิวดำยากจนที่เรียนดีต่อ
เบนเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ผมยอมรับในความสามารถของคนอื่นเช่นกัน แต่จะทำอาชีพใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมทีวี นักดนตรี เลขานุการ หรือศัลยแพทย์ ปัจเจกบุคคลต้องเชื่อในตัวเองและในความสามารถของตนเอง การจะทำดีที่สุดของตนได้นั้น เราต้องการความมั่นใจที่พูดว่า ‘ฉันสามารถทำได้ทุกอย่าง และถ้าฉันทำไม่ได้ ฉันรู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร’ ”
นี่คือหนังสืออัตชีวประวัติที่นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาวควรได้อ่านอย่างยิ่ง นี่ไม่ใช่เรื่องหมอที่เก่งกาจคนหนึ่งเท่านั้น แต่คือเรื่องของคนที่แก้ปัญหาและพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ติดต่อได้ที่โทร/ไลน์ 094-2037475 เฟซบุ๊ก: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม