แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัท
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวการจัดตั้ง การจดทะเบียน
การดำเนินการ การกำกับดูแล การเลิก การชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับกาลสมัยเพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ แล้วหลายครั้ง ในสภาพปัจจุบันที่สภาพสังคมเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไป มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก ลักษณะการประกอบธุรกิจก็ปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปด้วย จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมเศรษฐกิจยุคปัจจุบันให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ มีประเด็นสำคัญที่จะแก้ไขเพิ่มเติมคือ
- การจดทะเบียนจัดตั้งหรือการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียน แต่เดิมต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท อันเป็นเป็นตำบลท้องที่ที่บริษัทหรือห้างตั้งอยู่ จะแก้ไขให้จดทะเบียนข้ามเขตได้
-ในการประชุมจัดตั้งบริษัทและการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กฎหมายไม่บังคับให้มีรายการเกี่ยวกับตราประทับ บริษัทจะมีตราประทับหรือไม่ขึ้นอยู่กับความตกลงในการจัดทำข้อบังคับของบริษัทว่า จะกำหนดให้บริษัทมีหรือไม่มีตราประทับก็ได้ แต่ในการออกใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้น นอกจากต้องมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ในใบหุ้นทุกฯใบกฎหมายกำหนดให้มีกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงชื่อ และประทับตราของบริษัทไว้ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้บริษัทต้องมีตราประทับโดยปริยาย อาจเป็นภาระสำหรับบริษัทที่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้มีตราประทับ ก็จะปรับปรุงแก้ไขประเด็นปัญหานี้ด้วย
- การควบบริษัทเข้ากัน แต่เดิมมีลักษณะเดียวคือควบกันแล้ว บริษัทเดิมเลิกไปกลายเป็นบริษัทใหม่เกิดขึ้น จะแก้ไขให้เป็นการควบกันแล้วบริษัทเดิมเลิกไปเกิดมีบริษัทใหม่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติเดิม หรือควบกันแล้วบริษัทเดิมยังคงอยู่หนึ่งบริษัท และเลิกไปหนึ่งบริษัทก็ได้
- การประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งแต่เดิมต้องเข้าประชุม ณ สถานที่จัดประชุม จะแก้ไขให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
- กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้บุคคลใดฯตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทก็ได้ จะแก้ไขลดลงเหลือสองคน
- แก้ไขบทบัญญัติในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือค่าธรรมเนียมในการตรวจเอกสารให้สามารถ ยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจัดตั้ง หรือค่าธรรมเนียมในการตรวจเอกสาร แก่ผู้ประกอบธุรกิจบางประเภท เช่นในเขตที่เกิดภัยพิบัติ หรือแก่ส่วนราชการเป็นต้น
- ในการจ่ายเงินปันผล เมื่อมีมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้จ่ายเงินปันผล แต่เดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินปันผลไว้ ทำให้บางบริษัทชะลอการจ่ายเงินปันผลไว้ ทำให้ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียเปรียบ จะแก้ไขให้บริษัทต้องจ่ายเงินปันผลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่มีมติให้จ่ายเงินปันผล
- กรณีมี ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้น แต่เดิมต้องใช้กระบวนการทางศาลในการระงับปัญหาข้อพิพาท ซึ่งอาจใช้เวลานาน ทำให้การประกอบกิจการต้องชะงักงัน มีผลกระทบเสียหายต่อผู้ถือหุ้น จะแก้ไขให้บริษัทสามารถทำความตกลงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไว้ในข้อบังคับอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้สิทธิทางศาล ก็ได้
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท ประเด็นต่างฯดังกล่าวข้างต้น ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขั้นต่อไปเมื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ก็เป็นขั้นตอนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
แต่เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง ที่21/25/60 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบางฉบับ ซึ่งรวมถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแก้ไขบางประเด็นด้วยคือ
- แก้ไขมาตรา1016 เป็น “มาตรา 1016 การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามที่ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท กำหนดให้จดทะเบียน ให้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงประกาศกำหนด”
การแก้ไขมาตรา1016 ทำให้สามารถจดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดที่ใดก็ได้ ไม่บังคับต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ที่ห้างหรือบริษัทตั้งอยู่ในเขต
- เพิ่มเติมมาตรา1020/1 ให้อำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ คือ “มาตรา 1020/1 ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ออกตามมาตรา 1018 และมาตรา 1020”
-แก้ไข มาตรา1108 (1) เป็น “(1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ อาจกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ด้วยก็ได้” ทำให้สามารถตกลงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ในข้อบังคับของบริษัทได้
- แก้ไขมาตรา1128 เป็น “มาตรา 1128 ในใบหุ้นทุก ๆ ใบให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ” ซึ่งไม่มีข้อความบังคับที่ต้องประทับตราของบริษัท
-เพิ่มวรรคสี่ของมาตรา1237 คือ “การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติแล้วแต่กรณี” กำหนดให้ชัดเจนต้องจ่ายเงินปันผลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีมติให้จ่ายเงินปันผล
- เพิ่ม(5) ของมาตรา 1237 คือ “(5) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้” เพิ่มเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทได้นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้เดิม สี่ประการ เช่นกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ เป็นต้น
สำหรับประเด็นอื่นฯที่ยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติม ตามคำสั่งคสช .ฉบับนี้ก็ต้องเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป