สังคมผู้สูงวัยกับอาหารสุขภาพ

สังคมผู้สูงวัยกับอาหารสุขภาพ

องค์การสหประชาชาติ ให้นิยามผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

 และแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ และระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society)หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกระบุว่าก้าวสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2549 หรือประมาณ 11 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ตามมาด้วย อิตาลี เยอรมัน และสวีเดน

สำหรับประเทศในอาเซียน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรในกลุ่มอายุต่างๆ ซึ่งทุกประเทศมีแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ประเทศสิงคโปร์และไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ภายในปี 2568

นั่นหมายความว่า ตลาดในส่วนของผู้สูงอายุนับวันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียน และประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งในยุคนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์สูงขึ้น กอร์ปกับผู้คนให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ล้วนส่งผลให้คนเรามีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ

วันก่อนได้อ่านข้อเขียนของ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ที่ได้ไปดูงานผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแต่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และนำนวัตกรรมใหม่ในการผลิตอาหาร โดยนวัตกรรมนั้นสามารถช่วยรักษาทั้งสี กลิ่น และรสชาติของอาหารให้เหมือนเดิม ตลอดจนพัฒนารสชาติใหม่ๆ โดยมีระบบเซ็นเซอร์วัดรสชาติที่เลียนแบบลิ้นมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันอาหารนั้นก็เหมาะกับสรีระ ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายของผู้สูงอายุด้วย นับว่าเป็นการบ้านใหญ่สำหรับ สกว.ในการผลักดันให้เกิดการวิจัยพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

อันที่จริง บ้านเราก็เริ่มมีภาคเอกชนที่ปรับตัวรองรับสังคมนี้แล้วอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือซีพีเอฟ ที่ริเริ่มผลิตอาหารสำหรับผู้สูงวัย ที่คำนึงถึงปริมาณแคลอรีที่ร่างกายผู้สูงวัยควรได้รับ ภายใต้การดูแลของนักโภชนาการ รวมถึง การลดเค็ม ลดมัน ลดน้ำตาล แต่ยังคงรสชาติต้นตำรับ ด้วยการใช้วัตถุดิบที่เหมาะสมทดแทนเครื่องปรุงปกติ เช่น การใช้น้ำตาลมะพร้าวให้ความหวาน การใช้ดอกเกลือให้ความเค็ม หรือใช้ความมันจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แทนการใช้กะทิหรือน้ำมันพืชทั่วไป นอกจากนี้ ยังผลิตอาหารผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ ตลอดจนอาหารสุขภาพ และอาหารมังสวิรัติ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ที่สำคัญ กระบวนการผลิตอาหารเหล่านี้จะใช้นวัตกรรมการผลิตด้วยหุ่นยนต์อันทันสมัย ตามสไตล์ไทยแลนด์ 4.0

เมื่อถึงวันที่ประเทศเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ จากที่เคยมีฟันเคี้ยวอาหารเหนียวๆได้สบาย จะมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวที่ลดลง ระบบการย่อยอาหารที่เคยย่อยง่ายก็มีประสิทธิภาพที่อ่อนด้อยลง ทำให้ผู้สูงวัยมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบ่อยครั้ง ระบบขับถ่ายก็เช่นกัน ...อาหารสำหรับผู้สูงอายุ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับประชากรของประเทศ

การคิดค้นอาหารที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงวัย จึงเป็นหน้าที่ของนักโภชนาการทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการคิดค้นให้ได้อาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงวัย เพื่อรองรับสังคมผู้อายุที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน