นิลวรรณ ปิ่นทอง : บรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่ คนสุดท้ายของวงการ?
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของ คุณนิลวรรณ ปิ่นทองที่จากเราไปในวัย 101 ปี
ได้หนังสืออันมีคุณค่ามาหลายเล่มเกี่ยวกับสุภาพสตรี ที่มีคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการหนังสือของไทย
อ่านเนื้อหาของหนังสือแล้วก็เกิดความตระหนักว่าคำว่า “บรรณาธิการ” ในแวดวงหนังสือและสื่อวันนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จนอาจจะเรียกได้ว่าหมดยุคสมัยของการมีหัวหน้ากองบรรณาธิการ ที่ทำหน้าที่แก้ไขตรวจตราและปรับปรุงการใช้ภาษาอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นในวิชาชีพ
เพราะยุคดิจิทัลทุกวันนี้ได้ละทิ้งความสำคัญของการยึดมั่นให้คุณภาพแห่งการปรับปรุงแก้ไข “ต้นฉบับ” อย่างพิถีพิถันโดยคนที่ทำหน้าที่ “บรรณาธิกร” หรือ editing ตามขั้นตอนตามที่ควรจะเป็น
ในยุคที่ทุกอย่างต้องเร็วและด่วน การเสพอรรถรสของภาษาและความสละสลวย แห่งการนำเสนอได้กลายเป็นเรื่องที่เกือบจะมีอันดับความสำคัญท้ายสุดแล้ว
การได้อ่านข้อความสะท้อนถึงการทำหน้าที่ “บรรณาธิการ” อย่างน่าเคารพยกย่องของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง จึงทำให้ผมมีความรู้สึกภาคภูมิในวิชาชีพแห่งการเขียนข่าว บทความและคอลัมน์เสมือนเป็นเขียน “ร่างแรกของประวัติศาสตร์” ขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง
ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ในยุคสมัยนี้และสมัยต่อไป จะยังหลงเหลือในบางมุมของความคิดของคนทำสื่อหรือไม่เพียงใด
จึงทำให้หนังสืองานศพชุดนี้มีคุณค่าที่ประมาณมิได้
คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน) เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“จึงมีนักเขียนหลายท่านเคยเขียนถึงความในใจของตนเองไว้ในทำนองที่ว่า เธอเติบใหญ่ขึ้นมาจนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของผู้อ่านได้เพียงนี้ ก็เนื่องด้วยท่านอาจารย์ปั้นเธอขึ้นมา ท่านจึงเป็น “บรมครู” ของนักเขียนก็ว่าได้”
“...ดังเช่นการแก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้องบริบูรณ์ ไม่ผิดความจริง ไม่เกินไม่ขาด ไม่ใช้ภาษาขรุขระหรือไม่เหมาะสม จึงคือความพอดีที่บรรณาธิการเช่นท่านจะต้องเป็นผู้ปรับเปลี่ยนให้เกิดความหมดจดแก่บทประพันธ์นั้น ๆ อันเป็นคุณทั้งแก่นักเขียน นักอ่านและนิตยสาร....”
“รวมเวลา 48 ปีที่นิตยสาร ”สตรีสาร“ ดำรงอยู่คู่สังคมของไทย...นับจากนั้นเป็นต้นมา ก็ยากจักหาบรรณาธิการนิตยสารฉบับใดได้ตำแหน่ง ”ขึ้นหิ้ง“ ดังเช่นท่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง...”
คุณชมัยภร แสงกระจ่าง รำลึกไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“คุณนิลวรรณได้ทำหน้าที่บรรณาธิการได้อย่างงดงามสมบูรณ์พร้อมสำหรับคนทั้งครอบครัว เป็นอย่างที่อาจารย์วิชาภาษาฝรั่งเศสว่าไว้ คือเป็นนักอนุรักษ์ที่คิดเปลี่ยนแปลง สตรีสารจึงไม่ดูเก่าคร่ำครึ แต่ก็ไม่ล้ำสมัยจนตามไม่ทัน ...”
คุณงามพรรณ เวชชาชีวะบันทึกความจำอีกด้านหนึ่งว่า
“การได้พูดคุยกับท่านในแต่ละครั้งเป็นการ ”ทวีปัญญา“ ได้เห็นแบบอย่างในการทำงานและในการใช้ชีวิต ท่านเป็นผู้ใหญ่ใจดี มีอารมณ์ขันและไม่เคยหยุดนิ่งในการเรียนรู้ ท่านเป็นดั่งแสงทองสุกสว่าง เปล่งประกายให้ผู้อยู่ใกล้ได้สัมผัสถึง ”ความเป็นเนื้อแท้“ ควรค่าแก่การเคารพ ให้คนตัวเล็ก ๆ ที่แสงอ่อนจาง ไม่ต่างจากหิ่งห้อย ได้แหงนเงยหน้าดูและรับรู้ว่าผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญามีอยู่จริง ชวนให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใฝ่เรียนใฝ่รู้ ก้าวไปข้างหน้าทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมและเพื่อชาติบ้านเมือง ทั้งหมดนี้มิได้เกินจริงแม้แต่คำเดียว...”
คุณนันทวัน หยุ่นเขียนไว้ในอีกบทความหนึ่ง บางตอนบอกว่า
“นักเขียน ไม่ว่าจะเขียนอะไร ย่อมอยากได้คนอ่านที่มีคุณภาพ เช่นกันกับคนอ่าน ที่อยากอ่านงานเขียนที่มีคุณภาพ และความเป็นบรรณาธิการของท่านอาจารย์นิลวรรณคือสุดยอดของความไว้วางใจของนักเขียนและนักอ่าน จึงสามารถทำให้สตรีสารเป็นแหล่งรวม เป็นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างกันมาอย่างยิ่งยืนยาวนาน จวบถึงลาจาก...”
หรืออาจารย์นิลวรรณเป็น “บรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของวงการสื่อไทย”?