เหลียวหลังสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น แลหน้าโอกาสธุรกิจไทย

เหลียวหลังสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น แลหน้าโอกาสธุรกิจไทย

เหลียวหลังสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น แลหน้าโอกาสธุรกิจไทย

สวัสดีครับ

ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศ top list ที่คนไทยไปเที่ยวกันอย่างไม่รู้เบื่อ และเป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์และระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพทำให้อายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของคนญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประมาณ 23% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่น 127 ล้านคนในปัจจุบัน มีอายุมากกว่า 65 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศในเอเชียที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทายในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีมาก รัฐบาลได้มีแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุ รวมทั้งการดูแลที่บ้าน ศูนย์ดูแลและสถานพยาบาล รวมถึงระบบโครงสร้างสาธารณะทั่วไป ภาครัฐจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ และแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังกลับมาฟื้นตัว บริบทสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Mature Elderly Society) และจำนวนประชากรโดยรวมที่ลดลงยังเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับญี่ปุ่นในการพลิกฟื้นกำลังซื้อในประเทศและเศรษฐกิจมหภาค

สำหรับประเทศไทย เราเองก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2559 จำนวนผู้สูงอายุของไทยมีสัดส่วน 16.5%ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสิงคโปร์ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นำหน้าเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติครับ เช่นธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ บริการออกแบบที่พักอาศัยเพื่อรองรับผู้สูงวัย เครื่องใช้ในบ้านที่รองรับความต้องการทางกายภาพของผู้สูงอายุ และหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพ ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้ลงทุนตามแผนการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ให้บริการทั้งด้านการแพทย์และการพักอาศัยระยะยาวทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย เพื่อรองรับผู้สูงอายุต่างชาติจากยุโรป เอเชีย และญี่ปุ่น ซึ่งนิยมเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในไทยมากขึ้น

นอกจากสุขภาพทางกายแล้ว “สุขภาพทางการเงิน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แวดวงการเงินไทยทั้งภาครัฐและเอกชนมีการตื่นตัวพอสมควรในการนำเสนอบริการทางการเงินเพื่อผู้สูงวัย ทั้งในด้านการออมเพื่อผู้สูงวัย สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (reverse mortgage)บริการวางแผนทางการเงินหลังวัยเกษียณ การประกันและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับผู้สูงวัย และนับจากนี้ เราน่าจะเห็นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงวัยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่ยุค Thailand 4.0 ครับ