GI ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี

GI ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวร้ายๆต่อภาคการเกษตรของเราเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ที่สกลนคร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อไร่นาเป็นอันมาก และยังมีข่าว

การเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร และล่าสุดก็คือการปรับปรุง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ที่อาจจะทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้

ท่ามกลางข่าวร้ายแต่ก็ยังมีข่าวดีที่ให้น่าชื่นใจขึ้นมาบ้าง ก็คือ เรื่องข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI

GI ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี

GI (Geographical indication) เป็นเครื่องหมายที่ให้การรับรองสินค้าว่ามีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ โดยอาศัยความได้เปรียบจากแหล่งผลิตในท้องถิ่นนั้น ในขณะที่แหล่งผลิตอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การผลิตสินค้าเกิดจากความเชื่อมโยงกันระหว่างความสามารถของมนุษย์และความสามารถของธรรมชาติ หล่อหลอมจนเป็นสินค้าขึ้นมา ดังนั้นสินค้าที่ได้รับการรับรอง GI จึงมีนัยมากกว่า คุณภาพ สินค้าที่ผ่านการรับรองที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น กาแฟดอยตุง ข้าวสังข์หยดพัทลุง ไข่เค็มไชยา ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ และล่าสุดก็คือข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานี

เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีคุณชญานิน ทิพย์สุวรรณ เป็นผู้ผลักดัน โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพิ่มมูลค่าให้กับข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ให้มีมาตรฐานสากลและสร้างจุดเด่น อย่างน้อยผู้ประกอบการสามารถตอบคำถามผู้บริโภคได้ว่า ข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีมีความแตกต่างจากข้าวหอมมะลิจากจังหวัดอื่นอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วข้าวหอมมะลิจะมีลักษณะเป็นเม็ดเรียวยาว ขาวใส และมีกลิ่นหอม เมื่อนำมาหุงหรือต้มจะมีกลิ่นหอม เหนียว และนุ่ม น่ารับประทาน ซึ่งความพิเศษของข้าวหอมมะลิอยู่ที่ความหอม เพราะในข้าวหอมมะลินั้นมีสารที่มีชื่อว่า 2-Acetyl-1-Pyrroline (2AP) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความหอม จึงทำให้ข้าวหอมมะลิมีเอกลักษณ์และแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวชนิดอื่น แต่ทว่าข้อมูลจากสมาคมโรงสีข้าวไทยระบุราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจากจังหวัดอุบลราชธานีมีราคาที่สูงกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิจากจังหวัดอื่น ทำไมข้าวหอมมะลิเหมือนกันจึงมีราคาไม่เท่ากัน นั่นคงเป็นเพราะข้าวหอมมะลิจากจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีความหอมและความบริสุทธิ์อันเป็นลักษณะเฉพาะและมีความโดดเด่นด้วยเหตุผล 2 ข้อ

 

  1. ความได้เปรียบจากภูมิศาสตร์ท้องถิ่น

ตามที่กล่าวแล้วนั้น สารที่สร้างความหอมให้กับข้าวหอมมะลิคือ 2-Acetyl-1-Pyrroline (2AP) จากงานวิจัยของ Meijuan Li และคณะพบว่า ธาตุอาหารในดินที่ช่วยเพิ่มสาร 2AP ในข้าวหอมมะลิคือ ธาตุแมงกานีส และยังมีงานวิจัยของรณชัย ช่างศรีและคณะ ระบุอีกว่านอกจากแมงกานีสแล้ว แร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และ สังกะสี ก็มีผลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิเช่นกัน บังเอิญว่าผืนดินในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับข้าวหอมมะลิด้วยเช่นกัน จากงานวิจัยของชนิดา ครองไชยและคณะระบุว่า ดินในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ประกอบด้วย แมงกานีส 10.15 ppm แคลเซียม 120.21 ppm สังกะสี 0.98 ppm และฟอสฟอรัส 16.37 ppm ซึ่งล้วนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการสร้างสารความหอม 2AP

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุฟอสฟอรัส งานวิจัยของชนิดาชี้ว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีธาตุฟอสฟอรัสในดินซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติสูงกว่าในจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน เมื่อเปรียบเทียบกับ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร และหนองคาย ซึ่งมีความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในระดับ 6.36 ppm, 14.44 ppm, 10.48 ppm, 13.99 ppm, 12.99 ppm, 2.7 ppm, และ 3.34 ppm ตามลำดับ

นอกจากนั้น งานวิจัยของรณชัยและคณะยังระบุอีกว่า ธาตุอาหารบางชนิดส่งผลเสียต่อความหอมของข้าวหอมมะลิ คือธาตุทองแดง ซึ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ดินของจังหวัดอุบลราชธานีมีธาตุทองแดงน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ กล่าวคือมีธาตุทองแดงที่มีความเข้มข้นที่ 0.32 ppm ในขณะที่จังหวัดยโสธรมีธาตุทองแดง 0.42 ppm. จังหวัดสุรินทร์มีธาตุทองแดง 0.48 ppm. จังหวัดนครราชสีมามีธาตุทองแดง 1.31 ppm. จังหวัดมหาสารคามมีธาตุทองแดง 1.37 ppm. จังหวัดสกลนครมีธาตุทองแดง 0.75 ppm. และจังหวัดหนองคายมีธาตุทองแดง 0.83 ppm ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหอมมะลิโดยธรรมชาติ จึงทำให้ข้าวหอมมะลิมีความหอมและนุ่มกว่าข้าวหอมมะลิในจังหวัดอื่นในภาคอีสาน จึงทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของจังหวัดอุบลราชธานีมีราคาสูง

  1. ความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิ

วิถีชุมชนก็มีส่วนต่อคุณภาพของข้าวหอมมะลิเช่นกัน ในอดีตชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีมีความพิถีพิถันในการปลูกข้าวหอมมะลิ และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว ซึ่งมีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับสาร 2AP ของข้าวหอมมะลิ แต่เคล็ดลับที่สำคัญก็คือการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ แม้ว่าปัจจุบันวิถีการทำเกษตรของชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานี จะแตกต่างไปจากเดิมมาก มีการใช้เครื่องจักรและปุ๋ยเคมีมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวหอมมะลิลดลง สาเหตุสำคัญเกิดจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นวิถีชุมชนที่ยังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีจะทำนาดำและเกี่ยวข้าวด้วยมือ จึงทำให้ในนาข้าวไม่มีวัชพืชและชาวนาสามารถคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากรวงข้าวที่สมบูรณ์ได้ และคัดแยกพันธุ์ปลอมปนออก จึงเป็นรักษาความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิเอาไว้ได้ แม้ว่าปัจจุบันการทำนาจะแตกต่างไปจากเดิมแต่คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ลดลง เนื่องจากปัจจุบันนี้กรมการค้าได้ตั้งศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาและขยายเมล็ดพันธุ์ จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิในจังหวัดอุบลราชธานีมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การผลิต การจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และการเข้าถึงของเกษตรกร จึงเป็นไปอย่างมีระบบและมีคุณภาพ จึงทำให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีความน่าเชื่อถือในการนำไปเพาะปลูกต่อไป

 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ฉะนั้นข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีจึงผ่านการรับรอง GI ซึ่งนับได้ว่าเป็นข่าวดียิ่งสำหรับภาคเกษตรของจังหวัดอุบลราชธานีที่เกิดจากการผลักดันของข้าราชการตัวเล็กๆในพื้นที่

แม่น้ำสายเล็กย่อมไหลดังกว่าแม่น้ำสายใหญ่ ลูกตุ้มเล็กยังทับทองพันชั่งได้ แล้วทำไมข้าราชการตัวเล็กๆ จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ จากนี้ไปทุกภาคส่วนยังมีงานใหญ่รออยู่ เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ