เศรษฐกิจพอเพียง : จากปรัชญา สู่ทฤษฎี (ใหม่) ทางธุรกิจ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่คนไทยโดยมากรับรู้นั้น เป็นเนื้อหาในส่วนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ และ 2 เงื่อนไข
ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้ และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขในการดำเนินงาน
การจะนำปรัชญามาปฏิบัติให้เกิดผล จำเป็นต้องมีแบบแผนหรือระเบียบวิธีดำเนินงาน เพื่อแปลงหลักการใน “ปรัชญา” ซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูง ให้เป็น “ทฤษฎี” ที่สามารถอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานหรือการนำไปปฏิบัติที่มีความเป็นรูปธรรม และให้ผลลัพธ์เดียวกันเมื่อดำเนินการตามทฤษฎีนั้น
การดำเนินงานใด ที่ขาดทฤษฎีรองรับ เสมือนกับการขาดเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการอธิบายหรือกล่าวอ้างแบบเลื่อนลอย ทั้งในกรณีที่สำเร็จและล้มเหลว
เช่น ธุรกิจ บอกว่า ตนเองประสบความสำเร็จ ด้วยการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้นพอถามถึงวิธีการดำเนินงาน ก็ดูเหมือนไม่ได้มีวัตรปฏิบัติใดที่สะท้อนถึงคุณลักษณะ 3 ประการอย่างเด่นชัด หรือแตกต่างจากการดำเนินงานของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั่วไป
หรือ รัฐบาล บอกว่า จะบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อย ได้มาก” (ขณะที่ แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ทำตามลำดับขั้น”)
ในภาคเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงคิดค้นรูปแบบของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ขึ้นด้วยพระองค์เอง จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและการขาดน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยใช้วิธีเลียนแบบหลักธรรมชาติในการสร้างความสมดุลระหว่างสภาพตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว
ปัญหาของภาคธุรกิจที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ คือ การขาดทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบยืนยันผลของการประยุกต์อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปปฏิบัติซ้ำได้สำเร็จ
การแปลง “ปรัชญา” เศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น “ทฤษฎี” ธุรกิจในแต่ละสาขา จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคการบริการต่างๆ
ในบทความที่ผมนำเสนอเรื่อง หลักธุรกิจในเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2551 ( http://pipat.com/2008/02/blog-post.html ) ได้พยายามเทียบเคียงให้เห็นมิติของเศรษฐกิจพอพียง ที่มีความสอดคล้องกับมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องกำไรสูงสุด ที่มีการพิจารณาค่าเสียโอกาส และผลกระทบสู่ภายนอก (Externalities) ร่วมด้วย
นอกจากคุณลักษณะ 3 ประการ และ 2 เงื่อนไข ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง พระองค์ยังได้จำแนกเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น 2 ระดับ (3 ขั้น) คือ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน” ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า”
ขั้นแรก เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว มีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย 4) ได้
ขั้นที่สอง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับกลุ่ม มีการรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขั้นที่สาม เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับเครือข่าย มีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสร้างเครือข่าย เพื่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
หากจะเทียบเคียงระดับขั้นของเศรษฐกิจพอเพียง กับมุมมองทางธุรกิจ ในเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) จะพบความสอดคล้องในทั้งสามระดับ กล่าวคือ
ระดับแรก เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับองค์กร (Organization) ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ
ระดับที่สอง เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่มีการทำงานกับคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อการพัฒนาและยกระดับผลิตภาพ
ระดับที่สาม เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ที่มีการทำงานแบบข้ามภาคส่วนเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว
จะเห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงคิดค้นและพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยนั้น มีความเป็นสากล กระทั่งสามารถนำมาอธิบายเทียบเคียงกับทฤษฎีทางธุรกิจสมัยใหม่ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน
ต่างกันก็เพียงแต่การใช้ศัพท์บัญญัติ ซึ่งมีรากฐานที่มาจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกันเท่านั้น