ตั้งเป้าให้ลูกเราเก่งเท่าลูกสิงค์โปร์

ตั้งเป้าให้ลูกเราเก่งเท่าลูกสิงค์โปร์

ใครก็ทราบว่าการศึกษาของสิงค์โปร์ดีติดอันดับโลก เราเอาเป้าหมายของการศึกษาของสิงค์โปร์มาตั้งเป็นเป้าหมายของลูกเราได้

ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป้าหมายที่สิงค์โปร์ตั้งไว้สำหรับลูกหลานเขานั้นดีพอสำหรับลูกเราหรือไม่ ให้ลองดูว่าเป้าหมายที่เขาตั้งไว้เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ทำให้ผลการทดสอบPISA ของลูกหลานเขาได้ระดับดีเลิศ 40 คนจาก 100 คน 

ในขณะที่เป้าหมายเดิมๆ ของเรา ทำให้กว่าเราจะมีลูกหลานที่สอบได้ระดับดีเลิศสัก 40 คน ต้องไปหาจากคนเรียนทั้งหมดกว่า 2,300 คน ถ้าเขามีนักเรียน 2,000 คน เขาจะมีระดับดีเลิศร่วม 800 คน

ขอเน้นชัดๆ เลยว่าเป้าหมายแบบสิงค์โปร์ เป็นประโยชน์เฉพาะกับพ่อแม่ที่พร้อมจะสละเวลา เรี่ยวแรง และแรงสติปัญญาเติมเต็มให้กับลูกอย่างจริงจังเท่านั้น ตั้งเป้าหมายแบบสิงค์โปร์แล้วปล่อยให้ลูกเล่าเรียนไปแบบเดิมๆ ลูกเราก็ไปได้แค่แบบเดิมๆ ที่เราเป็นอยู่

เป้าหมายที่กระทรวงศึกษาของสิงค์โปร์กำหนดไว้นั้น เจาะจงลงไปที่ความสามารถด้านต่างๆ ของผู้เรียน คือบอกตรงๆ เลยว่า เมื่อลูกหลานบ้านเขาจบประถมศึกษาแล้ว จะบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง โดยเป็นเป้าหมายของการเป็นคนเก่ง ไม่ใช่แค่เก่งสอบเหมือนที่พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ

เมื่อจบประถมศึกษา เป้าหมายแรกคือ ลูกหลานเขารู้วิธีที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด โดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าอันนั้นถูก อันนี้ผิด เหมือนข้อสอบของหน่วยงานหนึ่งที่เป็นรูปคนอุ้มไก่กำลังคุยกับพ่อค้าหน้าแผงขายไก่ โดยตั้งคำถามให้เด็กประถมตอบว่ามองเห็นอะไร 

เด็กประถมแทบทุกคนตอบว่าคนอุ้มไก่ยืนคุยกับพ่อค้าไก่ แต่หน่วยงานนั้นบอกว่าผิด ที่ถูกคือต้องให้เด็กประถมตอบว่าเห็นผู้ขายกับผู้ซื้อ ถ้าอยากให้เขาแยกแยะถูกผิดได้เอง ต้องไม่บอกไปหมดว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด แต่ต้องช่วยนำทางไปสู่การหาข้อสรุปถูกผิด 

ห้ามพ่อแม่ทำตัวเป็นผู้กำหนดถูกผิด ต้องเป็นคนช่วยคิดให้เขาได้ข้อสรุปเองว่าแบบนี้น่าจะถูก หรือผิด วันหน้าเขาจะได้แยกแยะได้เอง ทั้งนี้ให้ระวังมากๆ ว่า ในวันนี้มีทั้งตัวอย่างที่ถูกว่าถูก และผิดก็ยังว่าถูกให้ลูกหลานเห็นอยู่เป็นประจำ ขอให้อดทนอธิบายว่าอะไรเป็นอย่างไร

เป้าหมายที่ 2 คือตั้งคำถามเกี่ยวกับสรรพสิ่งรอบตัวได้ โดยเป็นคำถามที่มีคำตอบสามารถช่วยให้เขาเข้าอกเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น หรือมีอยู่รอบๆ ตัวได้ดีขึ้น 

จบประถมแล้วลูกหลานต้องตั้งคำถามเป็น คำถามที่มาจากความใฝ่รู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่คำถามที่มาจากหนังสือเรียน 

การทำให้ลูกเราบรรลุเป้าหมายนี้ได้ พ่อแม่ต้องไม่ใช่แค่ไม่กลัวคำถาม แต่ต้องกระตุ้นให้ลูกหลานหัดตั้งคำถามตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย ไม่หงุดหงิดกับการตั้งคำถามที่ไม่ค่อยน่าถามในระยะแรกๆ เมื่อที่บ้านช่วยกันฝึกให้ลูกตั้งคำถามที่เหมาะสมแล้ว ที่โรงเรียนก็ต้องช่วยกันดัวย ครูต้องไม่ด่าว่าถามไร้สาระ

เป้าหมายที่ 3 คือ ลูกหลานเขาบอกได้ว่าตนเองเก่งเรื่องไหน รู้จักความเก่งของตนเอง รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ทำอะไรที่ยากๆ ได้อย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความเชื่อว่าคนแต่ละคนมีพรสวรรค์แตกต่างกันไป แต่ไม่ใช่บอกว่าเรียนเก่ง ต้องบอกได้เจาะจงลงไปว่าเก่งเลข เก่งภาษา เก่งกีฬา 

ถ้าการศึกษาพยายามทำให้ทุกคนเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกันไปหมด คนเก่งเรื่องอื่นอาจกลายเป็นคนโง่ดักดานในการศึกษาแบบนั้น

เล่ากันว่าเด็กที่ถูกโรงเรียนหนึ่งบอกว่าสติปัญญาต่ำต้อย เมื่อย้ายไปอีกโรงเรียนหนึ่งกลับพบความจริงว่ามีไอคิว 140 โรงเรียนเดิมมุ่งให้เก่งทางไหนก็ไม่รู้ที่ทำให้เห็นอัจฉริยะน้อย กลายเป็นเด็กโง่ไปได้

เป้าหมายที่ 4 คือ รู้จักร่วมมือกับคนอื่น รู้จักแบ่งปัน รู้จักใส่ใจคนอื่น จะแข่งขันก็แข่งกันแบบใส่ใจคนอื่น ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อตนเพียงคนเดียว คนอื่นช่างมัน

ฝากไว้ให้คนที่เป็นพ่อแม่ช่วยกันคิดหน่อยว่า เป้าหมายแค่ 4 ข้อนี้ ท่านคิดว่าโรงเรียนที่ลูกท่านเรียนอยู่ในวันนี้ พาลูกของท่านไปถึงได้หรือไม่

ถ้าคำตอบคือไม่ได้ ท่านจะทำอย่างไรต่อไปในวันหน้า