เดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า
เดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า
ช่วงนี้ค่ายผลิตรถยนต์เกือบทุกค่ายต่างก็เริ่มหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างขะมักเขม้น ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับแรงกระตุ้นของรัฐบาลที่มีนโยบายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง และตอนนี้หลายประเทศก็มีแผนยกเลิกการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในอนาคต
ถ้าดูเผินๆ เราอาจมองว่ารถ EV เป็นรถที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลยเพราะว่ารถ EV ใช้แค่ไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ ไม่มีไอเสียจากการเผาไหม้น้ำมันเพื่อขับเคลื่อนรถ เราจึงเชื่อกันว่ารถ EV เป็นรถที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
ในการเปรียบเทียบมลภาวะของรถแต่ละชนิดเราจะดูเพียงแค่สิ่งที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียคงจะไม่ถูกนัก ควรจะต้องวิเคราะห์ดูทั้งวงจรชีวิตของรถมากกว่า ถ้าเราดูรถยนต์ EV ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการรีไซเคิลส่วนประกอบแล้ว ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ไฟฟ้าจะน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพราะในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็มีบางกระบวนการที่ใช้พลังงานและปลดปล่อยมลภาวะสูง เช่น กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่นจากข้อมูลของ Trancik Lab ของ Massachusetts Institute of Technology ในวงจรชีวิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla โมเดล S รุ่น P100D ปล่อย 226 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลเมตร ถ้าเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันรุ่นใกล้ๆ กันอย่าง BMW ซีรี่ส์ 7 รุ่น 750i xDrive ซึ่งมีปริมาณการปล่อย 385 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลเมตร จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าปลดปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
แต่ถ้าลองเทียบกับรถยนต์ Mitsubishi Mirage ที่เป็นรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มีอัตราการปล่อยมลพิษแค่ 192 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลเมตร ถ้าเทียบกันแบบนี้รถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีอัตราการปล่อยมลพิษมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
ที่เปรียบเทียบมานี้ไม่ได้จะเปรียบเทียบผลการพัฒนาเทคโนโลยีแต่ละค่ายแต่อย่างใด เพียงแต่อยากจะเสนอว่าเราควรมองภาพใหญ่และให้รอบด้านมากขึ้น โดยแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะของรถยนต์ไม่ควรมองแค่การเปลี่ยนประเภทรถยนต์จากเดิมที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ EV เพียงอย่างเดียว แต่เราควรมองไปที่ประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การรณรงค์ให้ผู้ใช้รถหันไปใช้รถ City Car ขนาดเล็กก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหามลพิษได้ ซึ่งเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสำหรับผู้ที่ใช้รถประเภทใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงและรถยนต์ EV
เพราะผู้ใช้รถที่เป็นคนเมืองส่วนใหญ่ก็ขับรถเฉลี่ยวันละประมาณ 30 กิโลเมตรต่อวัน การใช้รถยนต์ที่ขนาดเล็กซึ่งมีน้ำหนักรถน้อยลงก็จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนและลดมลพิษจากการเผาไหม้รถยนต์ลงได้ทางหนึ่ง ในกรณี EV ที่วิ่งได้ระยะทางไกลๆ 600 กิโลเมตรต่อหนึ่งรอบการชาร์จ ก็จะมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มาก ทำให้น้ำหนักของตัวรถหนักขึ้น กินไฟมากขึ้นต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนมากเกินความจำเป็น การควบคุมให้มีการใช้รถ EV ให้มีขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสมจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้อีกมาก
นอกจากนี้ แหล่งพลังงานสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ก็มีปริมาณมลภาวะที่ต่างกันไป อย่างเช่น ถ้าเป็นน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ในกระบวนการผลิตตั้งแต่การขุดเจาะ การกลั่น จนกลายมาเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถ ก็มีการใช้พลังงานและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตมากมาย แต่หากเปรียบเทียบแหล่งพลังงานสำหรับรถ EV การใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ก็ย่อมจะสะอาดกว่าการใช้ไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นในการสนับสนุนเรื่องรถ EV ก็ควรมองไปถึงการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการชาร์จไฟรถยนต์ด้วย
ผมคิดว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยมาตรการที่รอบด้านและถี่ถ้วน จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ได้มากยิ่งขึ้น เพื่ออนุรักษ์โลกใบนี้ส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคตได้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป