ความเปลี่ยนแปลง ในการรับรู้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

ความเปลี่ยนแปลง ในการรับรู้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

ทุกคนในสังคมไทยทราบกันดีอยู่แล้วว่าความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมนั้นมีมานานและทวีสูงมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

ก็เป็นผลมาจากความรู้สึกของผู้คน ที่มีต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้  

ที่น่าสนใจ ก็คือ ในปัจจุบันนี้ เรายิ่งเห็นการปะทุขึ้นของความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำนี้แจ่มชัดขึ้นหากเมื่อใดมีข่าวว่า “คนรวยเอาเปรียบคนจน” หรือ“เอาเปรียบสังคม” ลองไล่เรียงมาดูนะครับ ตั้งแต่แพรวา จนถึงกรณีของเปรมชัย กรรณสูต อันเป็นเหตุการณ์ล่าสุด

ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจะทวีสูงมากขึ้น เพราะมีความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้และให้ความหมายต่อ “ความเหลื่อมล้ำ” เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและลึกซึ้ง

สังคมไทยอยู่กับความเหลื่อมล้ำมานานมากแล้ว จนอาจจะกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่เคยมีความไม่เหลื่อมล้ำ แต่ที่ผ่านมาการรับรู้และให้ความหมาย “ความเหลื่อมล้ำ” ไปในทางของการยอมรับว่าสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “ธรรมชาติ” เป็น“ธรรมดา” ที่มนุษย์ทุกคนทุกสังคมในโลกก็ต้องเป็นไป 

คำกล่าวที่เป็นการอธิบายการรับรู้แบบยอมรับนี้ถูกใช้มาโดยตลอด เช่น แข่งเรือแข่งพาย แข่งกันได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ หรือการเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วยนิ้วมือที่ไม่เท่ากัน 

พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์แห่งสังคมไทยเคยเขียนไว้ถึงผีที่จะจัดคนให้นอนเท่าเทียมกันแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะหากจัดหัวให้เท่ากัน เท้าก็ไม่เท่า หากจัดเท้าให้เท่ากัน หัวก็ไม่เท่า ซึ่งเป็นนัยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนเท่าเทียมกัน

ความไม่เท่าเทียมก่อนหน้านี้ถูกทำให้ลดรูปลงมาเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล โดยเฉพาะเป็นเรื่องส่วนตัวที่แก้ไขในชีวิตนี้ไม่ได้ เพราะเราถูกกำหนดมาจากกรรมเก่า (แต่ชาติปางก่อน ) จึงทำให้ผู้คนในสังคมไทยอยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำมาได้ยาวนาน

แต่การรับรู้และให้ความหมายว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัวของคน ได้แปรเปลี่ยนไปในหลายรูปลักษณะ ส่งผลต่อสังคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สุดได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงภายในกรอบคิดหลักว่าความเหลื่อมล้ำของชีวิตเป็นของการกำหนดมาแล้วจากกรรม (เก่า)โดยที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะไม่ยอมรับการกำหนดของกรรมเก่าทั้งหมดโดยสิ้นเชิงอย่างเดิม  

ดังที่เราเห็นถึงพิธีกรรมใหม่ในการแก้กรรม การสรรหาวิธีการทำบุญแบบใหม่ๆ แปลกๆ เพื่อช่วยลดกรรมเก่าและเสริมสร้างบุญใหม่

ความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้และให้ความหมายเช่นนี้ ในด้านหนึ่ง เป็นการรับกรอบคิดเก่ามาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ในชีวิต แต่ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อตัวของสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เริ่มมีความเชื่อว่าตนเองสามารถกำหนดชีวิตปัจจุบันของตนได้สูงระดับหนึ่ง เพราะเป็นการกำหนดชีวิตตนเองในระดับของการที่สามารถเข้าไปแก้กรรมเก่ามีมาจากชาติที่แล้ว

การเกิดสำนึกเชิงปัจเจกชนแบบใหม่นี้มีส่วนที่เปลี่ยนอย่างสำคัญ ได้แก่ สำนึกเชิงปัจเจกชนแบบใหม่นี้ได้แยกกันระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการดำเนินชีวิตทางสังคมทั่วไป แม้ว่าชีวิตส่วนตัวยังคงเชื่อในกรรมเก่าอยู่ (แต่สามารถแก้ได้) แต่ชีวิตทางสังคมกลับเป็นส่วนของการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก

การเริ่มเกิดสำนึกเชิงปัจเจกชนที่ชีวิตทางสังคมเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลักนี้ได้ทำให้เกิดการรับรู้และให้ความหมายของความเหลื่อมล้ำแปรเปลี่ยนไป การมองเห็นและอธิบาย “คนรวย” จะไม่ได้อธิบายด้วยบุญกรรมที่ทำมาเพียงอย่างเดียว แต่จะอธิบายด้วยปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ

โดยส่วนใหญ่แล้ว การรับรู้และให้ความหมายไปในทำนองว่า “คนรวย” จำนวนมากรวยขึ้นมาได้เพราะเอาไปจากสังคมมากกว่าที่ควรจะได้

ความเหลื่อมล้ำจึงถูกอธิบายพ่วงไปในทำนองว่าเพราะ “คนรวย” เอาเปรียบสังคมต่างหากจึงร่ำรวยขึ้น และลึกลงไปจะให้ความหมายว่ารัฐและกลไกอำนาจรัฐได้เอื้ออำนวยให้ “คนรวย” เอาเปรียบสังคม ดังที่เราจะเห็นการแสดงคิดเห็นของกลุ่มนักวิจารณ์หาความถูกต้อง (PC. Political Correctness ) ที่พร้อมจะแสดงความคิดเห็นอย่างทันทีทันใดหากมีอะไรไปกระทบความสำนึกของพวกเขา 

(กลุ่ม PC มักจะไม่อดทนอดกลั้นรอค้นหาความเป็นจริง แต่จะสะท้อนความรู้สึกตนเองในพื้นที่สาธารณะใหม่อย่างฉับพลัน ข้อดีคือทำให้มองเห็นสำนึกของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้น แต่ข้อเสียก็คือจะกระโดดเข้าสู่ข้อสรุปตามความรู้สึกตนเองมากกว่าข้อเท็จจริง )

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงบาดลึกเข้าในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนมากขึ้นๆ ยิ่งเมื่อสื่อโซเชียลขยายตัวออกไปมากเท่าไร ความรู้สึกไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำก็จะขยายตัวลึกซึ้งมากขึ้น

ที่สำคัญ การระบายความรู้สึกที่มีต่อความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะส่งผลให้เกิดสภาวะการรวมกลุ่มผู้ที่มีความรู้สึกเหมือนกันนี้ได้กว้างขวางและแนบแน่นขึ้น 

ปัญหาอะไรก็ตามที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะได้รับ“มติโซเชียล” อย่างรวดเร็ว และตกตะกอนความไม่พอใจในระบบที่ส่งเสริมให้เกิดความอยุติธรรมนี้มากขึ้น 

การรับรู้และให้ความหมายของความเหลื่อมล้ำที่แปรเปลี่ยนมาจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมสูงมากขึ้น

การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขหรือบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงไม่ใช่เพียงการแก้ไขทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ต้องเข้าไปดูแลในด้านของระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นสำคัญ 

แต่รัฐบาลทหารชุดนี้ไม่เข้าใจและมองไม่เห็นประเด็นปัญหานี้ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงยิ่งตอกย้ำความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

น่าเป็นห่วงสังคมไทยครับ