Facial Recognition ย้ำทางสว่างสู่ AI
จีนตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม AI เหนือคู่แข่งอย่างสหรัฐภายในปี 2030
ความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะผลักดันให้จีนเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม AI (The World’s Primary AI Innovation Center) ภายในปี 2030 ได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายเมื่อเดือนก.ค. 2017 โดยจีนมีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม AI ให้มีมูลค่าราว 24,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 และด้วยความหวังว่าจีนจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้าน AI เหนือคู่แข่งอันดับ 1 อย่างสหรัฐในปี 2030
รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินด้านงานวิจัย การพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์และเซมิคอนดักเตอร์ชิพประสิทธิภาพสูง และซอฟต์แวร์ตลอดจนการค้นหาและพัฒนาบุคลากรด้าน AI
เป้าหมายของจีนใกล้ความเป็นจริงขึ้นเมื่อจีนได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน Facial Recognition ของผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นใด
ข้อมูลคือหัวใจ
นวัตกรรม Facial Recognition คือระบบการรู้จำใบหน้า หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ข้อมูลด้าน Biometric โดยเฉพาะใบหน้าในการยืนยันตัวตนบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลภาพซึ่งมีการพัฒนาโดยใช้ AI การที่จีนมีนโยบายด้าน AI ที่ชัดเจนได้ทำให้สามารถรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดจากประชากรกว่า 1,300 ล้านราย ช่วยเปิดโอกาสให้การพัฒนาและความริเริ่มด้าน AI ของจีนรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ในอเมริกาได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรกว่า 117 ล้านรายเพื่อใช้ในการป้องกันอาชกรรมและสร้างความมั่นคงโดยกรมตำรวจ อาจกล่าวได้ว่านวัตกรรม AI ในอเมริกาถูกผลักดันโดยค่ายดิจิทัลรายใหญ่อย่างกูเกิล แอ๊ปเปิ้ล อเมซอน ไอบีเอ็มหรือเฟซบุ๊คที่ต่างเร่งพัฒนาข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับบริษัทหน้าใหม่ในจีนที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเทคโนโลยีและข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Megvii (หรือ Face++) ผู้พัฒนาระบบสแกนใบหน้าของชาวจีนกว่า 1,300 ล้านคนให้กับกระทรวงตำรวจของจีน หรือบริษัท Zoloz ในกลุ่มแอนท์ ไฟแนนเชียลผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Smile to Pay” ให้กับ KFC เป็นต้น
ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI จีนซึ่งมีการใช้ Mobile Payment มากกว่าอเมริกาถึง 50 เท่า มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม WeChat กว่า 1,100 ล้านราย การซื้อสินค้าผ่านระบบโมบายคอมเมิร์ซสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จึงนับเป็นการสร้างข้อมูลจำนวนมากมายของผู้บริโภคซึ่งพร้อมถูกป้อนเข้าสู่อัลกอริธึมของ AI เพื่อวิเคราะห์และใช้งานทันที
นำด้วยนวัตกรรม
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่นาน 6 สัปดาห์ได้เกิดการขนส่งประมาณ 3,000 ล้านเที่ยวในจีน โดยชาวจีนหลายร้อยล้านคนต่างมุ่งหน้าเดินทางกลับบ้านในช่วง “Chunyun” หรือ “Spring Transport” เพื่อให้ทันการฉลองปีใหม่ที่พร้อมหน้ากัน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของการบริหารจัดการของเครือข่ายขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยของนักเดินทางที่คราคร่ำที่สถานี
Big Data และ AI ช่วยให้การเดินทางและการคมนาคมลื่นไหล ทำให้การชำระเงินและการตรวจตั๋วสะดวกขึ้นด้วยการสแกน QR Code หรือด้วยการใช้ระบบ Facial Recognition แทนบัตรประจำตัว
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีรถไฟความเร็วสูงของเมืองเจิ้งโจวซึ่งมีผู้โดยสารผ่านสถานีราว 70,000-120,000 คนต่อวัน ได้ทดสอบใช้แว่นตาที่ติดตั้งด้วยนวัตกรรม Facial Recognition เพื่อสแกนตรวจหาข้อมูลจากฝูงชนจำนวนมาก (Real-time ID Verification) จนสามารถตรวจจับผู้ต้องสงสัยได้ถึง 7 รายและผู้กระทำผิดอีกกว่า 26 ราย ซึ่งเป็นบททดสอบของ รัฐบาลจีนที่ต้องการให้ระบบ Facial Recognition สามารถสแกนภาพใบหน้าผู้คนจากข้อมูล 1,300 ล้านรายด้วยความแม่นยำ 90% ให้ได้ใน 3 วินาที
แพร่หลายสู่ธุรกิจ
นวัตกรรม Facial Recognition ได้เปลี่ยนการทำงานของกล้องวงจรปิดให้เป็นระบบตรวจและค้นหาที่เก็บข้อมูลได้ real-time สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในธุรกิจ อาทิ ระบบการรักษาความปลอดภัย การเงินการธนาคาร การขนส่งหรือค้าปลีก โดยนวัตกรรม Facial Recognition กำลังถูกใช้ให้เป็นเสมือนบัตรประจำตัวของผู้คน ที่มีการใช้ใบหน้าแทนบัตรประชาชน บัตรเครดิตหรือ password ซึ่งอาจทดแทนความนิยมของการใช้สมาร์ทโฟนและความจำเป็นของการมีบัตรจริงลงได้
จีนคาดว่า นวัตกรรม AI จะช่วยให้จีดีพีของจีนสูงขี้น 14% ในปี 2030 หรือเท่ากับ 15.7 ล้านล้านดอลลาร์จากการเพิ่มผลผลิตและการบริโภค โดยประมาณว่าตลาดของเทคโนโลยี Facial Recognition จะมีมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์
การแข่งขันของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีกำลังเข้มข้นและเพิ่มบทบาทด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการไทยต้องจับตามองและปรับตัวให้ทัน