ตะเกียบคู่น้อย : ปัญญายิ่งใหญ่
ที่มาของตะเกียบ สามารถสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปถึง 312 ปีก่อนคริสตกาล จากตำนาน 詛楚文 (อ่านว่า จู๋ฉู่เหวิน) อันเป็นหนังสือ
ที่เขียนขึ้นเพื่อตำหนิการรุกรานของ 秦国 (ฉินกั๋ว) ที่มีต่อ 楚国 (ฉู่กั๋ว) หนังสือเล่มนี้มีคำว่า 箸 (อ่านว่า จู้) ปรากฏเป็นครั้งแรกเพื่อหมายถึง “ตะเกียบ” ในราชวงศ์ฮั่น ซึ่งถัดจากราชวงศ์ฉิน มีการใช้คำว่า 筯 เพื่อหมายความถึงตะเกียบเป็นลำดับถัดมา
ในนิยาย 红楼梦 (หรือความฝันในหอแดง) ตอนที่ 40 ซึ่งบรรยายถึงการรับประทานอาหารของอาม่าใน 大观园 (ต้ากวนเหวียน) นั้น มีการใช้คำว่า 箸 ใน 2 ครั้งแรกและใช้คำว่า 筯 ใน 2 ครั้งถัดมา และยังมีอีก 4 ครั้ง ที่ใช้คำว่า 筷 เพื่อหมายถึงตะเกียบทั้งสิ้น คำว่า 筷 นี้เองเป็นตัวหนังสือที่ใช้หมายถึงตะเกียบในปัจจุบัน เราควรจะระลึกว่าในสมัยต้นราชวงศ์ชิง อันเป็นยุคสมัยที่ 曹雪芹 (อ่านว่า เฉาเสว่ฉวิน) เขียนในนิยายเรื่องนี้ คำทั้ง 3 สามารถใช้แทนกันได้ในความหมายว่า “ตะเกียบ”
ถ้าอย่างนั้น คำว่า 筷 เริ่มใช้กันมาแต่เมื่อไร คำตอบก็คือในสมัยกลางราชวงศ์หมิงนั่นเอง แต่มานิยมเอาในสมัยต้นราชวงศ์ชิง ทั้งนี้เนื่องจาก 京杭大运河 (อ่านว่า จิงหางต้าหวิ้นเหอ) ซึ่งเป็นคลองขุดสำหรับเดินเรือ เชื่อมระหว่างปักกิ่งกับหางโจว มีการใช้งานเป็นอย่างมากในยุคนั้น การคมนาคมแออัดแต่คลองมีขนาดเล็ก อีกทั้งในยุคนั้นไม่มีเครื่องยนต์ การใช้ใบเรือก็ช้าเกินไป ส่วนการใช้คนพายเรือก็เกะกะเกินกว่าขนาดของคลอง ดังนั้นการเดินเรือจึงใช้วิธีให้คนงานลากเรือรับช่วงกันไปเป็นทอดๆ เนื่องจากเวลาเป็นเงินเป็นทอง เวลาที่คนงานจะขอตะเกียบกินข้าวต้องพูดคำว่า 箸 หรือ 筯 ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า 住 อันแปลว่า “หยุด” ซึ่งไม่เป็นมงคลกับการทำงาน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า 筷 แทน ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า 快 ซึ่งแปลว่า “เร็ว” และเหมาะกับลักษณะงานลากเรือที่ต้องการความเร็วในการขนส่งทางเรือ ในบรรดาแม่น้ำต่างๆ ในจีนก็ล้วนแต่ใช้วิธีการนี้ ในตอนแรกคนงานอาจใช้คำว่า 快 เพื่อให้ฟังดูเป็นมงคล แต่ภายหลังผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งแนะนำให้ใส่ 竹 ไว้ข้างบนเพื่อให้สอดคล้องกับตะเกียบที่ทำมาจากไม้ไผ่ ความนิยมจึงเริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สมัยโบราณ เริ่มแรก ตะเกียบมีวิวัฒนาการมาจากไม้เพียงอันเดียวที่ใช้เสียบเนื้อสัตว์สำหรับย่างไฟ ที่จริงแล้วมนุษย์ยุคโบราณใช้ไม้แทงปลาก็มีมาก ส่วนตะเกียบที่มี 2 ข้างนั้นสามารถสืบค้นไปได้ไกลถึงประมาณ 4,000 ปีก่อน ในยุคนั้นคนจีนเริ่มมีการต้มพืชผักกับธัญพืชในหม้อดินเผา จึงใช้ตะเกียบในการคนองค์ประกอบที่เป็นแป้งไม่ให้ติดก้นหม้อ อีกทั้งใช้คีบชิ้นผักที่อยู่ในผักผสมธัญพืชต้ม
การใช้ตะเกียบมีข้อควรสังเกตโดยเฉพาะในการรับประทานบะหมี่คือ ไม่สมควรใช้ตะเกียบเสียบเข้าไปแล้วหมุนเพื่อม้วนบะหมี่ให้เป็นก้อนเหมือนกับการรับประทานสปาเกตตี ถือว่าไม่สุภาพ เนื่องจากบะหมี่น้ำโดยเฉพาะในงานวันเกิดต้องการให้เป็นเส้นยาวๆ อุปมาให้มีอายุยืนยาว วิธีรับประทานที่ถูกต้องคือคีบบะหมี่่ขึ้นมาให้เห็นเป็นเส้นยาว วางในชามของตัวเอง แล้วใส่ปากค่อยๆ ดูดเข้ามา เป็นท่ี่น่าสังเกตว่าอาหารหลายๆ อย่างที่มีขนาดใหญ่มักจะต้มให้เปื่อยเพื่อให้สามารถใช้ตะเกียบถ่างชิ้นเนื้อและฉีกออกมาได้โดยง่าย อาหารจีนจะไม่ทำมาในลักษณะที่ต้องใช้มีดเหมือนอาหารตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะเข้าใจการใช้ตะเกียบมากยิ่งขึ้น จะต้องดูจากวิวัฒนาการการใช้ตะเกียบในแต่ละยุคสมัย ในยุคของ 春秋戦国 หรือชุนชิวจั้นกั๋ว หรือประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล ตะเกียบใช้คีบผัก ส่วนข้าวใช้มือเปิบ ดังนั้นโอกาสในการใช้ตะเกียบจึงมีไม่มาก การใช้ตะเกียบมาคีบทั้งผักและรับประทานข้าวมาเริ่มต้นประมาณราชวงศ์ฮั่น หรือ 100 ปีก่อนคริสตกาล แต่ในยุคนั้นโอกาสการใช้ช้อนก็ยังมากกว่า เนื่องจากอาหารอยู่ในรูปของน้ำแกงเป็นส่วนใหญ่ จึงมักจะใช้ช้อนรับประทานข้าวด้วย บทบาทของตะเกียบจึงยังมีไม่มากนัก
การใช้ตะเกียบเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ราชวงศ์ถัง หรือประมาณศตวรรษที่ 7-10 สมัยนั้นเริ่มมีเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้น 2 เมือง อันได้แก่ ฉางอานกับลั่วหยาง ความเป็นชุมชนเมืองจึงมีชีวิตที่เร่งรีบ การผัดผักจึงเริ่มถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นอาหารจานด่วนสำหรับชีวิตคนเมืองในสมัยนั้น การที่จะเป็นอาหารจานด่วนได้นั้น ผักจะต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ไฟจะต้องแรง น้ำมันต้องมาก อาหารจึงจะเสร็จเร็วและอร่อย
นอกจากการใช้ตะเกียบมีวิวัฒนาการในประเทศจีนแล้ว ยังมีวิวัฒนาการในประเทศที่รับเอาวัฒนธรรมตะเกียบไปใช้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับอาหารในแต่ละท้องถิ่น ชาวเกาหลีมักจะตั้งข้อสังเกตว่าทั้งจีนและเกาหลีต่างนิยมตั้งช้อนและตะเกียบไว้คู่กัน คนจีนมักจะไม่ค่อยใช้ช้อน แต่คนเกาหลีมักจะใช้ช้อนมากกว่า ทั้งนี้เพราะว่าอาหารเกาหลีมักจะเป็นจานร้อน น้ำหนักมาก และชิ้นเนื้อมีขนาดใหญ่ การใช้ช้อนจึงสะดวกกว่า อีกทั้งสังเกตได้ว่าช้อนเกาหลีมีขนาดยาวกว่าเพื่อให้เหมาะกับสภาพของอาหารจานร้อนด้วย การใช้โลหะทำทั้งช้อนและตะเกียบก็เป็นลักษณะที่แตกต่างกันชัดเจน
ที่จริงแล้วตะเกียบโลหะในจีนมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว ส่วนครอบครัวผู้มีฐานะจะใช้ตะเกียบเงินเป็นการทั่วไป การใช้ตะเกียบเงินลดลงมากตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ที่ประชาชนยากจนลงมาก
การถ่ายทอดวัฒนธรรมตะเกียบไปยังเกาหลีน่าจะเกิดขึ้นก่อนราชวงศ์สุยเล็กน้อย คือประมาณศตวรรษที่ 5-6 ส่วนการถ่ายทอดไปญี่ปุ่นเกิดขึ้นในราชวงศ์สุย หรือประมาณศตวรรษที่ 6-7 โดยที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายส่งทูตไปศึกษาวัฒนธรรมของจีนและนำกลับไปประเทศของตนเอง ดังนั้นในภาษาญี่ปุ่น ตัวหนังสือที่หมายถึงตะเกียบใช้ 箸 อันเป็นคำที่ใช้ในสมัยจีนโบราณ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า 筷 ที่จีนใช้อยู่ในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาตะเกียบของแต่ละประเทศแล้ว ต่างก็มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ตะเกียบจีนเริ่มมีรูปร่างคงที่ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง หรือประมาณศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ในลักษณะที่ครึ่งบนเป็นหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ้งบนโต๊ะ ส่วนครึ่งล่างกลม ความยาวประมาณ 28 ซม. ตะเกียบเกาหลีเป็นโลหะแต่มีรูปร่างแบนตลอดความยาว ส่วนตะเกียบญี่ปุ่นมีความยาวสั้นกว่าของจีนเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะการรับประทานอาหารของชาวญี่ปุ่นจะมีสำรับของแต่ละคนเป็นเอกเทศ ซึ่งเป็นลักษณะการรับประทานอาหารในสมัยราชวงศ์ถังนั่นเอง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตะเกียบที่ยาวนัก ซึ่งแตกต่างจากการรับประทานอาหารของจีนที่ใช้โต๊ะกลมขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ตะเกียบที่ยาวกว่า
วิธีถือตะเกียบที่ถูกต้องให้จับที่จุดประมาณ 1/3 นับจากด้านบนของตะเกียบ ตะเกียบอันล่างให้พักอยู่บนโคนเล็บด้านในของนิ้วแม่มือจุดหนึ่ง และพักอยู่ที่โคนนิ้วนางด้านใน (ที่อยู่ระหว่างง่ามของนิ้วกลางกับนิ้วนาง) ส่วนตะเกียบอันบนให้จับไว้ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง โดยให้ตัวตะเกียบพักอยู่ที่โคนเล็บของนิ้วกลางแล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งกดให้ตะเกียบอยู่ติดกับนิ้วกลาง การขยับตะเกียบเพื่อคีบหรือปล่อยอาหารให้ใช้นิ้วกลางและนิ้วชี้ที่หนีบตะเกียบอยู่ ขยับเฉพาะตะเกียบอันบนเท่านั้น ส่วนตะเกียบอันล่างอยู่เฉยๆ
เด็กๆ ทั่วไปอาจจะถือช้อนได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ขวบ แต่การถือตะเกียบต้องใช้เวลาในช่วงระหว่าง 2-3 ขวบ โดยพยายามให้เด็กร่วมโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกับผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นความสนใจและการเลียนแบบไปในเวลาเดียวกัน การวิจัยพฤติกรรมของเด็กในประเทศตะวันตกได้ข้อสรุปค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือเป็นวิธีที่ทำให้เด็กมีไอคิวสูงขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการใช้มือจะเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาทจำนวนมาก
ดังนั้น การใช้ตะเกียบตั้งแต่เด็กจึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ไอคิวสูงขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ที่มา : 赵荣光, “小筷子大智慧”,文明之旅 ,中国中央电视台 2015 年 3 月 16 日