เมื่อคุณ หรือ คนใกล้ตัว มีอาการชักหรือลมบ้าหมู (Seizure)
ผมเชื่อว่าในสังคมไทยปัจจุบันยังเชื่อว่าโรคลมชัก เป็นเหมือนจุดบกพร่องหรือรอยด่าง (Stigma) ของแต่ละบุคคลประกอบกับในหนังหรือละครบ้านเรา
ยังมีการนำโรคนี้มาเป็นตัวดำเนินเรื่องเป็นครั้งคราว ทำให้คนทั่วไปที่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อาจเกิดความกลัวหรือคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิต
ขณะที่ทางสังคมทางตะวันตกมีการให้ความรู้อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของโรคลมชัก ทำให้มุมมองของโรคนี้ดูเป็นเรื่องปกติ และทำให้ผู้ที่มีโรคลมชักสามารถเป็นที่ยอมรับทางสังคมเช่นเดียวกับคนที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ
อะไรคืออาการชัก? อาการชัก หรือลมบ้าหมู เป็นอาการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางภายนอกได้หลายรูปแบบ อาการผิดปกติอาจมีตั้งแต่...อาการชักกระตุกทั้งร่างกาย หรือบางส่วนของร่างกาย, ไม่รู้สึกตัวหรือหมดสติ หรือแม้กระทั่ง....อาการชาหรืออ่อนแรงเฉพาะส่วนของร่างกาย หรืออาการจำเพาะอื่นๆ เช่น ปวดท้อง, เวียนศีรษะ, มองเห็นผิดปกติ....
อาการชักส่วนใหญ่มักเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาทีหรือไม่เกิน 5 นาที ยกเว้นกรณีชักต่อเนื่องอาจนานติดต่อกันเกิน 5 นาที ซึ่งบางทีอาการดังกล่าวอาจแยกไม่ออกกับอาการเป็นลมหมดสติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
อาการชักนั้นทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการของร่างกายเทียบได้กับอาการไข้ ปวดท้อง หรือปวดศีรษะ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการชัก และพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดการชักซ้ำ ซึ่งอาการชักนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากความผิดปกติจากทางสมอง, ความผิดปกติแต่กำเนิด, พันธุกรรม, ความผิดปกติจากระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับวาย หรือไตวาย, สารพิษและการดื่มสุรา, รวมทั้งการกระทบกระเทือนทางสมองจากอุบัติเหตุ
จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าตลอดช่วงอายุคนในแต่ละคน จะมี 1 คนจาก 10 คน ที่มีอาการชักอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าโรคลมชัก?
อาการชักที่ไม่มีเหตุกระตุ้นที่แน่ชัดที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งในระยะเวลาห่างกันเกิน 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นโรคลมชัก เหตุที่ต้องรออาการชักมากกว่าหนึ่งครั้งถึงถือว่าเป็นโรคลมชัก เพราะจากการศึกษาพบว่าโอกาสการชักซ้ำครั้งที่ 3 มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับอาการชักซ้ำครั้งที่ 2 ซึ่งมีโอกาสประมาณ 20-40% นอกจากนี้โรคลมชักอาจวินิจฉัยได้ในผู้ที่มีอาการชักเพียง 1 ครั้ง ถ้าตรวจหาสาเหตุแล้วพบว่ามีสาเหตุบางอย่างที่อาจชักนำให้เกิดอาการชักครั้งต่อไปสูงกว่า 60% หรือเป็นโรคลมชักที่มีลักษณะจำเพาะ
โรคลมชักเกิดกับใคร
ก่อนที่ผมจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโรคลมชัก ผมจะขอให้ข้อมูลบางอย่างที่สำคัญทางสถิติที่อาจทำให้ทุกท่านเห็นด้วยกับผมว่าโรคลมชักใกล้ตัวกว่าที่ทุกท่านคิด จากการเทียบเคียงปริมาณโรคลมชักจากข้อมูลทางองค์กรอนามัยโลก (WHO) ประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่า...ผู้ป่วยลมชักทั่วโลกมีปริมาณ 70 ล้านคน
ความชุกของโรคลมชักในสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 1-2% ของประชากรทั่วไป แต่ในงานวิจัยล่าสุดพบว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามีความชุกเป็น 2 เท่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งบางประเทศอาจสูงถึง 5%
ผมจะลองเทียบให้เห็นภาพความชุกของโรคลมชักเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน จะพบประมาณ 10% ของประชากรทั่วไป โรคเบาหวาน จะพบประมาณ 8% ของประชากรทั่วไป โรคมะเร็งปอด จะพบประมาณ 6% ของประชากรทั่วไป โรคหลอดเลือดสมอง จะพบประมาณ 3% ของประชากรทั่วไป
ในมุมมองคนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคลมชักนั้นมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่จากการศึกษาพบว่าโรคลมชักเกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในวัยเด็กและผู้สูงอายุ
จากกราฟจะเห็นว่าโรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในสองช่วงอายุคือ วัยเด็ก (1-15 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
สุดท้ายในความเห็นของผม ผู้ป่วยวัยสูงอายุที่บ้านเรามักถูกละเลยการวินิจฉัย เนื่องจากอาการชักมักไม่ชัดเจน (เช่น ไม่รู้สึกตัว 1-2 นาที) หรือบางทีถูกวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เช่น เป็นลม หกล้ม... ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจเป็นสาเหตุนำพาไปสู่อุบัติเหตุหรือการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคลมชัก ผมคิดว่าในบ้านเราการยอมรับผู้ที่มีโรคลมชักยังมีไม่มากเท่าไหร่ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจผู้ที่มีโรคลมชักมากขึ้นครับ
โดย... สหวรรธน์ ตันติกิตติชัยกุล