หมดสมัยที่ใครจะเก่งคนเดียว
วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปได้ขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ ในหลายธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานกันยกใหญ่
การทำงานแบบไซโล โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคนี้ เราจึงเห็นหลายองค์กรพยายามปรับตัวและสนับสนุนการมี Network Organization ย่อยๆ เพื่อให้คนในองค์กรมีการเชื่อมโยงกันมี Connectivity และการร่วมมือกัน Collaborationให้มากที่สุด เพื่อสร้างการทำงานเป็น teamwork ที่ไหลลื่น ไม่ติดขัด ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จที่ทุกองค์กรปรารถนา
Collaboration ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญในระดับองค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับโลก ในบทความเรื่อง The Collaboration Imperative ของ Harvard Business Review ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความพยายามอย่างเหลือคณานับจากองค์กรต่างๆ ที่ได้ทุ่มเทไปในการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เช่น ปัญหาโลกร้อน การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์นั้นล้มเหลว เพราะมีสาเหตุมาจากการแก่งแย่งแข่งขันที่ต่างฝ่ายต่างเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง การที่ทุกฝ่ายขาดเป้าหมายร่วมกัน และการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ดิฉันคิดว่าสถานการณ์แบบนี้น่าจะคล้ายๆ กับที่หลายองค์กรธุรกิจกำลังเผชิญอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจากการสำรวจของ Earnt & Young ที่ทำใน 8 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชีย เผยให้เห็นว่า “สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบ teamwork เป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่ลาออก” องค์กรที่ไม่สามารถปรับวิธีการทำงาน way of work และสภาพแวดล้อมในการทำงาน working environment ได้ทัน จึงต้องสูญเสียพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น talent ซึ่งเป็นที่ต้องการของธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย
ดิฉันสนใจศึกษาเรื่อง collaboration และพบว่าบริษัทที่ปรึกษา CEB มีงานวิจัยและแนวคิดเกี่ยวกับเครื่องมือวัด collaboration ที่ชื่อว่า Enterprise Contribution แนวคิดนี้บอกว่าสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปทำให้การทำงานของคนในองค์กรเปลี่ยนตามไปด้วย การทำงานของคนในองค์กรในวันนี้ ต้องพึ่งพาอาศัยกันมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การสร้างผลงานของคนคนหนึ่งจะสำเร็จไม่ได้มาก ถ้าไม่มี collaboration จากคนอื่น ดังนั้นการวัดผลงานโดยใช้ Enterprise Contribution ที่ออกแบบมาเพื่อองค์กรในยุคนี้ จึงเป็นการวัดทั้งประสิทธิผลของการบรรลุเป้าหมายผลงานส่วนบุคคล (Individual Task Performance) บวกกับประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือกันและกัน กับทีมอื่น (Network Performance) เพื่อให้ผลงานของทั้งทีมเขาและทีมเราดีขึ้น การวัดผลงานด้วยเครื่องมือนี้ช่วยเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เครื่องมือวัดผลงานแบบดั้งเดิมบอกไม่ได้ เพราะการวัดผลงานแบบเก่าเรามักจะวัดแต่ความสำเร็จของผลงานจากตัวบุคคลและทีมงานของตน ไม่ค่อยวัดความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันข้ามสายงานเพื่อสนับสนุนการสร้างผลงานให้ทีมอื่น เราจึงไม่เห็นว่าแต่ละทีมในองค์กรทำงานร่วมกันอย่างไร
ในระบบประเมินผลงานแบบใหม่นี้ การประเมินผลงานของพนักงานคนหนึ่ง นอกจากจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานแล้ว ยังจะต้องถูกประเมินโดยเพื่อนร่วมงานในทีมและเพื่อนร่วมงานข้ามสายงานหรือเพื่อนร่วม project อีกด้วย การประเมินผลงานแบบนี้ทำให้พนักงานมองเห็นว่า ความสำเร็จของตัวเองนั้นไม่ได้มาจากความสามารถของตัวเองโดยลำพัง แต่เกิดจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานทั้งในสายงานเดียวกันและข้ามสายงาน และตัวเขาเองก็สามารถให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมงานให้สร้างผลงานได้ด้วย
ตัวอย่างวิธีการในการประเมิน Network Performance ก็คือ เราให้คะแนนพนักงานคนละ 100 คะแนน เพื่อนำไปแจกให้คนที่ให้ความช่วยเหลือให้ตนเองทำผลงานได้เพื่อชื่นชมคนเหล่านั้น โดยจะต้องระบุรายละเอียดพฤติกรรมของคนที่ตนชื่นชมให้ได้ชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลือตนอย่างไร และผลสำเร็จที่ตนได้รับจากการช่วยเหลือเป็นอย่างไร คะแนนรวม total score ที่พนักงานแต่ละคนได้รับจากการประเมินของผู้อื่นจะเป็นตัวบอกว่า พนักงานคนนั้นให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้อื่นและองค์กรประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน การให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว มันเป็นได้ทั้งแบบเป็นทางการ formal เช่น การทำงานใน project ที่ได้รับมอบหมายร่วมกัน หรือไม่เป็นทางการ informal เช่น การสอนทักษะใหม่ให้เพื่อน การให้ไอเดียที่นำไปต่อยอดได้ เป็นต้น
ดิฉันคิดว่าการวัดผลงานแบบนี้ น่าจะทำให้พฤติกรรมในการทำงานเปลี่ยนไป คนจะไม่โฟกัสแต่เรื่องของตัวเองอย่างเดียวแต่จะให้ความสำคัญกับการทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและองค์กรประสบความสำเร็จ และยังจะช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Agile Organization ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการผลักดันกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ติดกับดักการวัดผลงานแบบเก่าที่ไซโลและขึ้นอยู่กับหัวหน้าตนเองเพียงคนเดียว ไม่ยึดติดกับการสร้างความสำเร็จให้ทีมของตนเป็นสำคัญโดยไม่ได้นึกถึงความสำเร็จของคนอื่นทีมอื่น และความสำเร็จขององค์กรโดยรวม
องค์กรที่อยากให้มี collaboration ในองค์กรนั้นส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลงานไปในแนวทางที่ชี้นำให้เกิดพฤติกรรม collaboration อย่างที่อยากเห็น เราจึงควรเริ่มสร้างตัววัดใหม่ๆ เหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นรูปแบบใหม่ที่วัดผลงานจากการสร้างเครือข่ายหรือ network ในระดับองค์กรให้ได้ เพราะในโลกยุคใหม่มันหมดสมัยที่ใครจะเก่งคนเดียว