“Station F: win-win-win model ของincubator ระดับโลก”

“Station F: win-win-win model  ของincubator ระดับโลก”

นโยบายการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior) ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่อง “สตาร์ทอัพ” (Startups) ในประเทศไทยอย่างมาก

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะเล่าถึง “Station F” ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator) ให้กับสตาร์ทอัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  แม้ว่า Station F เพิ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ตั้งมาเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็นับว่าประสบความสำเร็จมากโดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพร่วมเข้ารับการบ่มเพาะอยู่กับ Station F นับ 10,000 ราย!

คุณ Xavier Niel ผู้ก่อตั้ง “Station F” เป็นผู้ประกอบการเอกชนชาวฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จในวงการเทคโนโลยีโทรคมนาคม เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มโทรคมนาคม ILIAD ของฝรั่งเศส เป็นผู้ก่อตั้ง “42” ในกรุงปารีส และยังมีสาขาที่ Silicon Valley ด้วย นับว่าเป็นนักธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก ซึ่งส่งผลให้การก่อตั้ง Station F เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพแห่งนี้มีแต้มต่ออย่างมาก

“Station F: win-win-win model  ของincubator ระดับโลก”

“Station F” สร้างขึ้นมาจากโกดังเก่าในพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม โกดังเก่านี้ได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม ตกแต่งใหม่ และออกแบบอย่างงดงามสร้างสรรค์ โดย Station F ประกาศว่า เราได้รวบรวมระบบนิเวศสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหมดไว้ภายใต้หลังคาเดียวกัน พื้นที่ภายใน Station F แบ่งเป็น 3 โซน คือ 1) โซนแบ่งปัน (Share Zone) เป็นพื้นที่เปิดให้เข้าร่วมกิจกรรม ทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ (prototype) ซื้อสินค้าเท่ห์ๆ จากสตาร์ทอัพ 2) โซนสร้างสรรค์ (Create Zone) สำหรับสตาร์ทอัพที่สมัครเข้าโปรแกรมต่างๆ และเป็นผู้อยู่อาศัย 3) โซนพักผ่อนหย่อนใจ (Chill Zone) พื้นที่โซนนี้เปิดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันและเป็นโซนที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้

บรรยากาศที่นี่ส่งเสริมให้เกิดไอเดียและเอื้อต่อการทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมของสตาร์ทอัพมาก โดยภายใน Station F มีพื้นที่สำหรับทำงานมากถึง 3,000 จุด มีพื้นที่จัดกิจกรรมและการประชุม 8 พื้นที่ ห้องประชุมกว่า 60 ห้อง มีห้องทดลองเทคโนโลยี (Tech Lab) ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายสามารถเข้าใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อทดลองผลิตสินค้าได้ 

Station F ได้เปิดโปรแกรมบ่มเพาะที่น่าสนใจสำหรับสตาร์ทอัพถึง 31 โปรแกรม เช่น โปรแกรมเกี่ยวกับกลุ่มสินค้าหรูหรา โปรแกรมด้านข้อมูลดิจิทัล โปรแกรมด้านเอไอ เป็นต้น Station F เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด และโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้แต่ละโปรแกรมบ่มเพาะโดยบริษัทชั้นนำระดับโลก ตัวอย่างบริษัทที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้จัดโปรแกรมกลุ่มสินค้าความหรูหรา ได้แก่ LVMH (Moët Hennessy Louis Vuitton) หรือบริษัท หลุยส์วิตตอง เป็นผู้จัดโครงการบ่มเพาะสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านความหรูหรา

ทั้งนี้ Station F เน้นกระบวนการคัดสรรเลือกบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นผู้บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญและเลือกบริษัทที่มีข้อเสนอดีที่สุด โดยพิจารณาว่าบริษัทต่างๆ มีข้อเสนออะไรให้กับเหล่าสตาร์ทอัพที่จะเข้ารับการอบรมบ่มเพาะบ้าง เช่น เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น นอกจากนี้ Station F ยังมีเครือข่ายที่ดีที่เข้ามาร่วมในการพัฒนาบ่มเพาะให้กับสตาร์ทอัพ อาทิ Fab Lab ,VC, Cloud

ด้านบริษัทสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ได้จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการว่ามีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการได้ รวมทั้งตอบโจทย์บริษัทที่เป็นเจ้าของเงินทุน โดยเน้นเลือกบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ช่วงเริ่มก่อตั้งและหาเงินทุน ทั้งนี้ Station F จะทำหน้าที่ควบคุมภาพรวมเพื่อสร้างสมดุลผลประโยชน์ระหว่างบริษัทที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดโครงการบ่มเพาะ กับบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมุ่งหวังสร้างสตาร์ทอัพให้มีคุณภาพมากที่สุดในระยะยาว

ทั้งนี้ “La French Tech” ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐเพียงรายเดียวของฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพก็ได้เข้ามาเช่าพื้นที่ใน Station F เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น จัดตารางเวลาให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการก่อตั้งและดำเนินงานของสตาร์ทอัพ อาทิ กรมศุลกากร ธนาคารลงทุนแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางไอที

บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากโมเดล Station F คือ การแบ่งหน้าที่บทบาทที่ชัดเจนระหว่าง Station F บริษัทชั้นนำที่เป็นผู้ขับเคลื่อนโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และองค์กร La French Tech ซึ่งการแบ่งบทบาทการทำงานที่ชัดเจนนี้ช่วยให้เกิดสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win-win situation)หากมองถึงบทบาทของภาครัฐในเรื่องนี้แล้วจะพบว่า ภาครัฐจะเน้นบทบาทการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกเป็นหลัก ไม่ดำเนินการในส่วนที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว

เราพอจะสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จจาก Station F ได้ 3 ประการ คือ 1) การก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพโดยผู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ทำให้สามารถดึงเครือข่ายมาพัฒนาระบบนิเวศที่ดี 2) การเลือกบริษัทชั้นนำที่มีความสามารถสูงมาเป็นพันธมิตรจัดโปรแกรมบ่มเพาะให้จึงช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพได้แบบก้าวกระโดด 3) การมีองค์กรภาครัฐหน่วยงานเดียวที่ดูแล ทำให้เกิดเอกภาพและมีความชัดเจนในเชิงนโยบายและอำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service)ซึ่งการเรียนรู้จาก Station F จะเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่ดีเพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทประเทศไทยที่กำลังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่สู่ประเทศไทย 4.0

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation