“ผู้ค้าออนไลน์ต้องแจ้งราคา สอบถามใน Inbox อาจผิดกฎหมาย !”

“ผู้ค้าออนไลน์ต้องแจ้งราคา  สอบถามใน Inbox อาจผิดกฎหมาย !”

ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ เพราะในแต่ละวันมีการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ

ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านเฟซบุ๊ค (Facebook) หน้าส่วนตัวหรือหน้าเพจ และขณะนี้ได้มีฟีเจอร์ Marketplace เพิ่มช่องทางให้ผู้ค้าขายสินค้า (ผู้ค้า) ได้รับความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขายหรือรีวิว (Review) สินค้าผ่านอินสตราแกรม (Instragram) เว็บไซต์หรือผ่านแอพลิเคชั่นต่าง ๆ เพราะได้รับความสะดวกสบาย ทั้งในส่วนผู้ซื้อและผู้ขายที่สามารถชำระเงินผ่านระบบ Mobile Banking ของหลายธนาคาร ด้วยเหตุนี้ผู้ค้าหลายรายจึงหันมาให้ความสนใจธุรกิจออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ค้าจำนวนไม่น้อยที่ขายสินค้าของตนโดยไม่แจ้งข้อมูลแท้จริงของสินค้าให้แก่ลูกค้าทราบ โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า จนทำให้เกิดวลีที่เราได้เห็นได้ยินจนชินตาเมื่อกดเข้าไปดูสินค้านั้นๆ เช่น ลูกค้าถามว่า “กระเป๋าใบนี้ราคาเท่าไรคะ” ผู้ค้าก็จะตอบในทำนองว่า สนใจทักแชทเลยค่ะหรือ สนใจ in box นะคะ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดเมื่อผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคประสงค์สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อยากทราบราคาสินค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจแล้วจะต้องถามผ่าน inbox หรือกล่องข้อความเท่านั้น

ขณะที่การซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าอื่นๆ เช่น เซเว่น อีเลเว่น จะต้องมีป้ายแสดงราคาสินค้าให้เห็นอย่างเด่นชัด หรือแม้แต่ร้านอาหารก็ต้องมีป้ายแสดงราคาอาหารของเมนูนั้นๆ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.) มาตรา 28 ที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายและผู้นำเข้าต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ

สำหรับกรณีการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์นั้น แท้จริงแล้วได้มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 44 พ.ศ.2560 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2560 โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” (ผู้ค้า) ได้แก่ ผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์หรือออนไลน์ ดังนั้น ร้านค้าที่เป็นเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ค แอพลิเคชั่นหรือโซเชียล เน็ตเวิร์คทั้งหมด ให้แสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือบริการที่ตรงกับราคาขายจริง เว้นแต่จะจำหน่ายหรือให้บริการราคาต่ำกว่าที่ได้แสดงโฆษณาไว้ นอกจากนี้ผู้ค้าต้องแสดงค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนักและรายละเอียดของสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหลายครั้งมักพบว่าผู้ซื้อได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับรายการหรือรูปประกอบที่โฆษณาไว้ เช่น มีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่ารูปตัวอย่าง ประการสำคัญคือผู้ค้าต้องแสดงราคาต่อหน่วยด้วยตัวเลขภาษาใดก็ได้แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย

ทั้งนี้การแสดงข้อมูลดังกล่าวจะต้องทำโดยการเขียน พิมพ์ ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้ง่าย ซึ่งผู้ค้าสามารถทำได้โดยการติดแฮชแทก (Hashtag) ข้อความสำคัญ และรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายต้องเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ท้ายที่สุดคือหากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่แสดงไว้ เช่น ค่าจัดส่งสินค้าแบบลงทะเบียนหรือ EMS ผู้ค้าก็จะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนควบคู่ไปด้วย

กรณีที่ผู้ค้าได้แจ้งราคาไว้หน้าเพจ หรือหน้าเว็บไซต์แล้ว แต่มีอีกโพสต์ที่เพียงแค่แนะนำร้านค้า โฆษณาคำโปรยเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาดูสินค้าในเพจเพิ่มเติม เช่นนี้ก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด หรือหากทางร้านมีเพจแนะนำสินค้าแต่ไม่ได้ทำการซื้อขายสินค้าจริงในเพจ กรณีนี้ควรทำหมายเหตุไว้ว่าให้ผู้สนใจมาซื้อสินค้าได้ที่ร้าน เนื่องจากไม่ได้มีการซื้อขายแบบออนไลน์ และหากเป็นสินค้าที่มีการสั่งทำควรแจ้งข้อมูลแบบมีช่วงราคา เช่น ราคาสั่งตัดชุดไทย เริ่มต้นที่ xxx-x,xxx บาท* แล้วใส่เครื่องหมายดอกจันทร์ให้ทราบว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัสดุ ขนาดและคุณภาพสินค้า

หากผู้ใดพบเห็นร้านค้าไม่แสดงราคาสินค้าแต่ให้ Inbox ไปสอบถามราคาและรายละเอียดเช่นเดิม ผู้นั้นสามารถแคปเจอร์หน้าจอ (Screen Capture) ข้อความดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานแล้วแจ้งไปยังพาณิชย์จังหวัด หรือแจ้งกรมการค้าภายในที่อีเมลล์ [email protected] หรือสายด่วน 1569 เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้วก็จะส่งสายตรวจไปตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ โดยหากผู้ค้ารายใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (ประกาศฉบับนี้อ้างอิงมาตรา 9 (5) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการแสดงราคาสินค้าและบริการตามมาตรา 28 และกำหนดโทษในมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.) และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ได้จับผู้กระทำความผิดแล้วจำนวน 328 ราย

การที่ประชาชนช่วยแจ้งข้อความร้องเรียนเป็นการช่วยรัฐได้ทางหนึ่งเพราะร้านค้าเหล่านี้ได้เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งการไม่ปรากฏหน้าร้านเป็นช่องทางหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรด้วย นอกจากนี้ผู้นำจับจะได้รับสินบนนำจับในอัตรา 25% ของเงินค่าปรับหรือมูลค่าสุทธิที่ศาลสั่งริบตาม พ.ร.บ. มาตรา 33

เหตุที่กฎหมายให้ความสำคัญกับการแสดงราคาเมื่อมีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เนื่องจากสัญญาซื้อขายเกิดจากการแสดงเจตนาที่ต้องตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยทั้งสองฝ่ายจำต้องมีความรู้หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ตนต้องการก่อนเป็นอย่างน้อย ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลอกลวง ปกปิด หรือไม่บอกข้อความจริงทั้งหมดแล้ว จะมีผลเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวได้ว่าประกาศฉบับนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการคุ้มครองผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญามากขึ้นนั่นเอง

โดย... 

พัทธ์รดา เปล่งแสง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์