เจย์ พาวเวล: มาช้า..ยังดีกว่าไม่มา?
หลังจากที่มึนๆ ไปพักใหญ่ เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าการ Sell-off ของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปลายปีที่แล้ว
หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากท่าทีของเขาจากการประชุมเฟดครั้งที่ผ่านมา ก็อาจจะถือว่าไม่เกินจริง ปรากฎว่า เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา ดูเหมือนพาวเวลทำท่าว่าจะกลับลำมาออกตัว dovish แรงมาก โดยมานั่งล้อมวงคุยแบบสบายๆ กับรุ่นพี่อย่าง เบน เบอร์นันเก้ และ เจเน็ต เยลเลน ในงานของประชุมประจำปีของ American Economic Association ที่นิวยอร์ค
โดยพาวเวล ยอมรับแบบเปรียบเปรยสถานการณ์ในขณะนี้ว่า คล้ายกับในปี 2016 ที่เฟดเองยังเคยสร้างความคาดหวังกับตลาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้ง ท้ายสุด เอาเข้าจริง กลับขึ้นดอกเบี้ยในปีนั้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แถมตบท้ายเปลี่ยนท่าทีประเด็นการลดขนาดงบดุลเฟด จากเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าพร้อมจะปรับลดความเร็วในการลดขนาดงบดุลตามสถานการณ์ในอนาคต
ทำให้ เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ผ่านมา ตลาดกลับลำกลายเป็น price in ว่าปลายปีนี้ถึงปีหน้า เฟด จะ ‘ลด’ ไม่ใช่ ‘ขึ้น’ ดอกเบี้ย ในการประชุมเฟดครั้งถัดๆ ไป ผมขอประเมินการ Sell-off ของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปลายปีที่แล้ว ดังนี้
คำถามแรก ปัจจัยใดที่แย่จากพื้นฐานจริงๆ? ผมคิดว่าคำตอบมีอยู่อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
รูปที่ 1: ดัชนีต่างๆ ที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน
1.อุปสงค์ของเศรษฐกิจจีน มีความอ่อนแอลงกว่าคาดจริงแม้ตัวเลขจีดีพีจะออกมาว่าเติบโตราว 6% กว่าๆ ทว่าตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ กลับชี้ว่าน่าจะน้อยกว่านั้นเล็กน้อยดังรูปที่ 1
รูปที่ 2: ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน
2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรงในปี 2015ดังรูปที่ 2 ส่งผลต่อการชะลอตัวเศรษฐกิจของประเทศส่งออกสินค้าดังกล่าวในละตินอเมริกา ออสเตรเลียและแอฟริกา ผ่านมาถึงตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่ฟื้นดี
3.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว อย่างค่อนข้างชัดเจนโดยหดตัวลง 0.2-0.4% จากที่คาดไว้ก่อนหน้า ตรงนี้หลายท่านเป็นห่วงว่าอุปสงค์ของเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ยังอ่อนกำลัง จะฉุดให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลงต่ออีก
4.ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดเทคโนโลยี ญี่ปุ่น และยุโรปที่ส่งออกเป็นหลักหรือ Export Play ดูเหมือนจะแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
ท้ายสุด ประการที่ 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ อย่างไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ อินเดีย ต่างกำลังเข้าสู่โหมดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งเกือบจะพร้อมๆกัน ที่ดูแล้วผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะได้ที่นั่งในสภาน้อยลง
คำถามที่ 2 คือ อะไรที่แย่จากอารมณ์หรือ Sentiment? คำตอบมีอยู่อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
1.ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐ ณ ปลายตุลาคมปีที่แล้ว อยู่ในระดับสูงมากพอที่จะอ่อนไหวต่อแรงกระเพื่อมจากข่าวร้ายหรือความเสี่ยงต่างๆโดยเฉพาะจากเฟดและจากนอกประเทศ
2.เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมาดีในหลายภาคส่วน ทว่ากลับเป็นข่าวร้ายเนื่องจากนั่นหมายความว่าเฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววัน(มุมมองนี้ มีอยู่จนถึง ณ ก่อนวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา) ซึ่งเหมือนบีบให้เป็นตัวกดอารมณ์ของตลาดให้คิดถึงเหตุการณ์ Taper Tantrum ปี 2013 ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะลดการทำ QE แล้วตลาดกระเพื่อม
3.เศรษฐกิจยุโรปโดยภาพรวมแย่ลงแบบผิดคาดในไตรมาสาม 2018 อีกทั้ง การส่งออกไปจีนของประเทศอย่างเยอรมันที่ชะลอตัวลง ยิ่งทำให้หลายคนกังวลหนักขึ้น
และสุดท้าย ประการที่ 4. ตลาดติดลบทั้งฝั่งเอเชียและสหรัฐนั้น มีจุดร่วมของสาเหตุที่เชื่อมกันอยู่คือกังวล Trade War จึงทำให้เกิดการลดลงของตลาดแบบเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงก่อนต้นสัปดาห์นี้
คำถามที่ 3 ได้แก่ ตัวช่วยอะไรให้กับการ Sell-off งวดนี้ เริ่มกลับมาซื้อกันใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา? ผมเห็นมีอยู่อย่างน้อย 3 ตัวช่วย ได้แก่
1.การชะลอการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้นี้ซึ่งตรงนี้ นายพาวเวลได้แง้มไต๋การชะลอการขึ้นดบ.ดังกล่าวออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ตลาดตีความมากกว่านั้น คือมองว่าเฟดจะลดดบ.เสียด้วยซ้ำในปลายปีนี้
2.มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ที่หยุดลงในปลายปี 2018และการคาดว่าการเริ่มขึ้นดบ.นโยบายของธนาคารกลางยุโรป ที่จ่ออยู่ในแผนของธนาคารกลางยุโรปก่อนกันยายน ปีนี้ แม้ถือเป็น Headwind เล็กน้อยต่อตลาด ทว่าหลานท่านมองว่าอาจไม่เกิดขึ้น
3.การออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจและการเรียกความเชื่อมั่นของทางการจีนสิ่งนี้ทางการจีนน่าจะกำลังทยอยทำอยู่ แม้ ณ ตอนนี้ ถือว่ายังไม่มีพลังมากพอในการผลักตลาด ทว่าถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ด้วยภาพรวมทั้งหมด ณ ขณะนี้ ผมมองว่าเฟดในยุคของพาวเวลถือว่าเจองานที่หินกว่ายุคเยลเลนและเบอร์นันเก้มาก โดยเจอทั้งแรงกดดันจากทำเนียบขาว ตลาดเงินและตลาดทุน และเศรษฐกิจสหรัฐเอง ซึ่งแต่ละแรงกดดันต้องการทิศทางของนโยบายการเงินที่สวนทางกันอีกต่างหากครับ
หมายเหตุ : ท่านที่สนใจงานสัมมนาคอร์ส“เจาะลึกNext Crisis?วิกฤตหนี้โลก: โอกาสในความเสี่ยงของนักลงทุน” พร้อมมุมมองการลงทุนปี 2019 ในวันเสาร์ที่ 19 และ 26 ม.ค.2562 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง facebook.com/MacroView