เครื่องมือสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต

เครื่องมือสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต

ฉากทัศน์อนาคต หรือ Future Scenario ถูกนำมาใช้เพื่อกำหนดแนวความคิดใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏในสถานการณ์ปัจจุบัน

หรือใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงอภิปรายทางเลือกและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ตกผลึกเป็นฉันทามติหรือแนวทางปฏิบัติในอนาคตขององค์กรหรือหมู่คณะใดคณะหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการมองอนาคต (Foresight) เพื่อการวิเคราะห์หรือคาดการณ์อนาคตและใช้กำหนดเป็นกลยุทธ์ระยะยาวในระดับองค์กร ธุรกิจ หรือระดับประเทศ

ฉากทัศน์ หมายถึง มโนภาพเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีความเป็นไปได้ โดยให้ความสำคัญกับ ความไม่แน่นอน และปัจจัยที่มีอิทธิพล ในการขับเคลื่อนสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่อนาคต ทำให้สะท้อนเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ปัจจัยเกื้อหนุน และ ปัจจัยความท้าทาย ในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเนื่องจาก การนำ ความไม่แน่นอน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ ผลของฉากทัศน์ที่เกิดขึ้น จึงมักรวมภาพของ ฉากทัศน์ทางเลือก (Alternative Scenarios) แทนการนำเสนอ ฉากทัศน์ใดฉากทัศน์หนึ่ง เป็นผลของการวิเคราะห์อนาคตเพียงภาพเดียว

การสร้างฉากทัศน์อนาคต จะทำได้ 2 วิธี คือ การสร้างฉากทัศน์บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลหรือทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แล้วสร้างคำตอบว่า พื้นฐานในปัจจุบัน จะนำไปสู่อนาคตได้อย่างไร

อีกวิธีหนึ่ง คือ การสร้างฉากภาพอนาคตขึ้นมาโดยใช้จินตนาการ ไม่ต้องอาศัยข้อมูลอดีตมาประกอบ ทำให้เกิดภาพของสถานการณ์ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และปัจจัยที่จะนำไปสู่สถานการณ์ในอนาคตนั้นๆ

หลักสำคัญของการใช้เครื่องมือ การสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต ก็คือ ฉากทัศน์ที่ต้องสะท้อน ความเป็นไปได้และความไม่แน่นอนที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยต้องไม่เป็น ฉากทัศน์เชิงบวก หรือ เชิงลบ มากจนเกินไป หรือไม่ควรเป็น ฉากทัศน์ของความสำเร็จ หรือ ฉากทัศน์ของความล้มเหลว เพียงด้านใดด้านหนึ่ง

และประเด็นที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเครื่องมือนี้ ก็คือ การรวมฉากทัศน์ที่ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นต่ำมาก แต่หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ในฉากทัศน์นั้นสูงมาก ซึ่งเรียกว่า เป็นปัจจัย Wild Card หรือ ปัจจัยที่นอกเหนือความคาดหมาย ควบคุมไม่ได้ และไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

การใช้เครื่องมือ การสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในรูปแบบการประชุมปฏิบัติการ หรือ การประชุมสนทนากลุ่ม และควรต้องมีการทบทวนฉากทัศน์ผลลัพธ์ และฉากทัศน์ทางเลือก ที่เกิดขึ้น มากกว่า 1 ครั้ง

กระบวนการ การสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. กำหนดหัวข้อหรือประเด็นคำถามที่ชัดเจน
  2. เลือกขอบเขตเวลาของฉากทัศน์อนาคต ส่วนใหญ่มักจะเป็น 20-50 ปี
  3. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลหรือปัจจัยขับเคลื่อน โดยแบ่งออกตาม ระดับความไม่แน่นอน (สูง-ต่ำ) และ ระดับของอิทธิพลหรือผลกระทบ (สูง-ต่ำ) ซึ่งจะทำให้เกิดฉากทัศน์ใน 4 มุมมอง คือ ความไม่แน่นอนสูง-ผลกระทบสูง ความไม่แน่นอนสูง-ผลกระทบต่ำ ความไม่แน่นอนต่ำ-ผลกระทบสูง และ ความไม่แน่นอนต่ำ-ผลกระทบต่ำ (อาจตัดทิ้งจากการวิเคราะห์ในขั้นต่อไปได้)
  4. กำหนดทางเลือกให้ปัจจัยที่มีอิทธิพลหรือปัจจัยขับเคลื่อนที่ตรงกันข้าม คือ กรณีที่ปัจจัยนั้นเกิดขึ้นแน่นอน และ กรณีที่ปัจจัยนั้นไม่เกิดขึ้น ว่าในแต่ละกรณีภาพในฉากทัศน์อนาคตจะเป็นอย่างไร
  5. สร้างเข็มทิศฉากทัศน์อนาคต โดยเลือกนำปัจจัยที่ได้จากขั้นตอนที่ 3 และ 4 มาทีละคู่ สร้างเป็นแกน X และแกน Y โดยมีจุดกึ่งกลางแทนปัจจุบัน และเขียนวงกลมเส้นประแทนขอบเขตเวลาของอนาคต จะทำให้ฉากทัศน์ 4 ภาพที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป
  6. สร้างเรื่องเล่าหรือภาพวาดในจินตนาการสำหรับแต่ละฉากทัศน์ แล้ววิพากษ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฉากทัศน์ เช่น ความสมเหตุสมผล ความเป็นไปได้ หรือ นัยยะเชิงปฏิบัติที่ต้องทำให้ฉากทัศน์นั้นเป็นจริงขึ้นมาในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจากเอกสาร คู่มือการมองอนาคต พัฒนาและจัดทำโดย วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีข่าวเบื้องต้นว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดย สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม มีโครงการที่จะจัดอบรมเพื่อสร้างนักอนาคตศาสตร์ใหม่ๆ ขึ้นมาจากผู้ที่สนใจในศาสตร์แห่งอนาคตนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การรวมตัวกันเป็น สังคมของนักอนาคตศาสตร์ ในประเทศไทย ต่อไป