ประกันภัยเกษตรพันธสัญญา...ชีวิตเกษตรกรที่ไร้ความเสี่ยง

ประกันภัยเกษตรพันธสัญญา...ชีวิตเกษตรกรที่ไร้ความเสี่ยง

ในอดีต เราคงเคยได้ยินว่าเกษตรพันธสัญญาเป็นสัญญาที่เอาเปรียบเกษตรกรบ้าง เป็นสัญญาทาสบ้าง เคยได้ยิน

ประเด็นที่เกษตรกรไม่ซื่อสัตย์กับผู้ประกอบการลักลอบนำทรัพย์สินของบริษัทไปขายบ้าง ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตที่บริษัทกำหนดบ้าง กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560

หลังจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา มีผลบังคับใช้ ก็ดูเหมือนจะช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร มีหลักยึดหลักปฏิบัติต่อกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญายุคนี้ดูจะมีความสะดวกสบายในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะบางบริษัทมีเสริมบริการ “ประกันภัย”ให้ด้วยแบบไม่ต้องร้องขอ

สิ่งที่น่าสนใจ คือ พัฒนาการของระบบเกษตรพันธสัญญา(คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง) ที่มีอายุมากว่า 100 ปีและถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยกว่า 40 ปี ระบบนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยการถูกหยิบยกเฉพาะประเด็นลบ ทำเอาภาพลักษณ์ดูจะติดลบไปด้วย ยิ่งถ้าเกษตรกรบางรายเอาความต้องการผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมาเป็นประเด็นเรียกร้อง โดยมี NGO เข้ามาเติมเชื้อไฟ ยิ่งทำให้“เกษตรพันธสัญญา” ดูย่ำแย่เข้าไปใหญ่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากระบบนี้มีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่ล้มเหลว

มองในมิติที่ไร้มายาคติ

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อเร็วๆนี้ว่า เกษตรพันธสัญญาไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ที่ผ่านมาเราไปดูแต่ภาพลบ ขณะที่ไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียที่เกษตรพันธสัญญาประสบความสำเร็จ เวลาธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)จะทำเรื่องเกษตรพันธสัญญา ต้องมาดูงานในเมืองไทย เพราะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้

เกษตรพันธสัญญา จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย ไปสู่เป้าหมาย”เกษตรยั่งยืน” ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกร ส่วนผู้ประกอบการก็มีกำลังการผลิตสามารถส่งออกสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงระบบนี้ยังเกี่ยวพันกับสุขภาพของผู้คนทั่วโลก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัย

การทำงานร่วมกันของเกษตรกรและผู้ประกอบการในระบบเกษตรพันธสัญญา จึงก่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกันบนความไว้วางใจ เอาความสุจริต ความตั้งใจมองผลประโยชน์ระยะยาวของทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง เท่านี้ก็จะสามารถทำธุรกิจร่วมกันไปได้ตลอดรอดฝั่งเหมือนคู่สามีภรรยา” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ฉะนั้น “ความก้าวหน้า” ของระบบเกษตรพันธสัญญาที่ ดร.นิพนธ์ กล่าวถึง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพัฒนาการในหลายๆด้าน รวมถึงการที่ประเทศเรามีกฏหมายรองรับ และยังมีความก้าวหน้าในส่วนของภาคเอกชน ที่ขอยกตัวอย่าง จากความพยายามริเริ่มและผลักดัน "ระบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย" ด้วยความมุ่งหวังการยกระดับภาคเกษตรไทยให้มีความมั่นคง เป็นฐานรากของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดโลก

ชีวิตเกษตรกรที่ไร้ความเสี่ยง

ด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา ที่บริษัทผู้ประกอบการเข้ามารับความเสี่ยงแทนเกษตรกรแล้วใน 3 ด้าน 1.) ความเสี่ยงเรื่องการตลาด เพราะเข้ามารับผิดชอบรับซื้อผลผลิตทั้งหมดของเกษตรกร โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขายของไม่ได้ 2.) ความเสี่ยงเรื่องราคาผันผวนของสินค้าเกษตร เพราะมีราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องเสี่ยงกับราคาขึ้นลงของตลาด 3.) ความเสี่ยงเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะสามารถนำโครงการเข้าเสนอขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายกว่าเกษตรกรอิสระทั่วไป

ลดความเสี่ยงลงได้ขนาดนี้ยังไม่พอ โครงการดังกล่าวยังทำ ประกันภัยความเสี่ยง ด้านภัยพิบัติให้แก่โรงเรือนและอุปกรณ์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของเกษตรกรด้วย โดยที่เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเอง ... ต้องทำอาชีพอะไรจึงจะได้บริการเสริมที่ดีขนาดนี้?? มันคงไม่เกินเลยที่จะบอกว่า เกษตรกรในระบบนี้เป็นชีวิตเกษตรกรที่แทบจะไร้ความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ

สมมติว่าเราเปิดร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เราต้องเตรียมสถานที่ทำเลที่ลูกค้าเข้าถึง เตรียมเครื่องซักผ้าและระบบน้ำ-ไฟไว้พร้อมให้บริการลูกค้า วันหนึ่งทั้งร้านทั้งเครื่องถูกน้ำท่วมเสียหาย ... ถ้าเราไม่จ่ายค่าประกันภัยเอาไว้ ความเสียหายทั้งหมดเราต้องรับผิดชอบเองใช่หรือไม่?? แต่ นั่นไม่ใช่ชีวิตเกษตรกรพันธะสัญญา!!

“เต้า เจริญ” เจ้าของฟาร์มเป็ดในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นตัวอย่างหนึ่งของเกษตรกรที่ไร้ความเสี่ยง แม้ฟาร์มของเขาจะประสบเหตุลมพัดแรงสร้างความเสียหายให้โรงเรือนเสียหาย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2561 แต่ถัดจากนั้นอีกเพียง 2 เดือน ก็ได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนกว่า 5 หมื่นบาท

ส่วน “ไสว ฝอยทอง” เกษตรกรเจ้าของไสวฟาร์มเลี้ยงไก่กระทงใน อ.แม่สอด จ.ตาก ประสบภัยธรรมชาติ จนทำให้โรงเรือนและอุปกรณ์เสียหาย เมื่อส.ค.2560 หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับสินไหมชดเชยเต็มจำนวน สามารถนำเงินไปซ่อมแซมโรงเรือนและอุปกรณ์ได้โดยไม่เดือดร้อน

นี่คือตัวอย่างของ ระบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรรายย่อย ที่ริเริ่มด้วยความหวังและจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่อ้างถึง ย้อนกลับมาที่เกษตรกรอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้อยู่ในวิถีเกษตรพันธสัญญาว่า ถ้าถามว่าวันนี้ประกอบอาชีพอะไรจึงจะปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ... ระบบเกษตรพันธสัญญา... ควรเป็นตัวเลือกหนึ่งของการตัดสินใจแล้วครับ

 โดย... 

นฤนาถ พงษ์ธร

นักวิชาการอิสระ