เพราะจนจึงเจ็บป่วย(จากฝุ่น)

เพราะจนจึงเจ็บป่วย(จากฝุ่น)

“วิกฤตฝุ่น” ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมถึงเชียงใหม่) ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาที่สร้างรอยด่างพร้อยส่งท้ายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 ด้วยค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน (โดยเฉพาะ pm 2.5) ส่งสัญญาณเตือนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ได้ตั้งคำถามสำคัญว่า “คนจนเมือง” อยู่กันได้อย่างไร?

จากตัวเลขที่เผยแพร่โดยสภาพัฒน์ คนจนในกรุงเทพฯ ในปี 2560 มีทั้งสิ้นกว่า 1 แสนคน ตามทฤษฎีนั้น หากคุณอยู่ในกรุงเทพฯ และมีรายจ่ายน้อยกว่า 3,200 บาทต่อเดือน คุณคือ “คนจน” แต่เกณฑ์ดังกล่าวถือว่าต่ำเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่าใช้ชีวิตโดยมีรายจ่ายแค่วันละ 100 บาท จะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่า “คนจนเมือง” มีจำนวนมากกว่านั้น เมื่อเทียบกับประชากรเกือบ 10 ล้านคน หรือถ้าเราเอาค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 325 บาท เป็นเกณฑ์ ก็ยังถือว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตห่างไกลจากคำว่า “สบาย” โดยเฉพาะในเมืองที่ค่าครองชีพสูงตามค่าจ้างอย่างกรุงเทพฯ และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายหากเป็นพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว และลูกอยู่ในวัยเรียน เราอาจเรียกคนกลุ่มหลวม ๆ นี้ว่า “คนเกือบจน” ก็ได้

ดร. สุปรียา หวังพัชรพล และคณะทีมวิจัย ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ศึกษาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง เมื่อปี 2560 จำแนกกลุ่มคนจนเมืองออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคนจนเชิงรายได้ (ผู้มีรายได้ต่ำ ขาดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และถูกไล่ที่อยู่) กลุ่มชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ (ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง ขาดอำนาจการต่อรองจากในพื้นที่ของตัวเอง) กลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ (มาจากต่างจังหวัด หรือแรงงานต่างด้าว ไม่มีสวัสดิการและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน) และกลุ่มคนจนชายขอบ (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเพศสภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพบริการทางเพศ) เมื่อเกิดวิกฤต (ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม) กลุ่มคนจนและคนเกือบจนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้มีความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับปัญหาได้น้อยกว่า หรือช้ากว่า เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในกรณีวิกฤตฝุ่นนี้ กลุ่มคนจนเมืองจึงเข้าทำนอง “เพราะจนจึงเจ็บป่วย”

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ลองคิดถึงพนักงานออฟฟิศในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง นอกจากทุกวันจะต้องเผชิญปัญหารถติดจากการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นอีกด้วย สมมติว่าพนักงานรายนี้ ได้รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เขาสามารถเดินไปซื้อหน้ากาก N95 ที่ร้านขายยาได้อย่างไม่ระคายกระเป๋าสตางค์ ใช้ไปสัก 3 – 4 วัน ก็เปลี่ยนได้ หรือหากไม่พอใจในคุณภาพ เขาอาจจะสั่งซื้อหน้ากากอย่างดีที่ผลิตจากญี่ปุ่น ราคาหน้ากากมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของค่าจ้างในแต่ละวัน นอกจากนั้น ในแต่ละวันก็เผชิญกับมลภาวะไม่กี่นาทีเพราะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวที่พ่อ-แม่ซื้อเป็นของขวัญวันเข้าทำงาน นั่งทำงานในห้องแอร์ กลับบ้านหรือหอพักมาก็เปิดแอร์ฟอกอากาศสบายใจ แล้วคนจนและคนเกือบจนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ขณะนี้ทำอย่างไร? 

คนกลุ่มนี้มักทำงานรับจ้าง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาจจะขับรถมอเตอร์ไซค์มาทำงาน หรือนั่งได้แค่รถเมล์แบบไม่ปรับอากาศ (ที่น่าจะหายไปจากโลกนี้ได้แล้ว) พวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญกับฝุ่นพิษนี้ได้ เรียกได้ว่าแทบจะเจอฝุ่นกันแบบ 24 ชั่วโมง จะให้ไปซื้อหน้ากาก N95 ราคาแพงก็ซื้อข้าวแกงดีกว่า จะให้เปลี่ยนหน้ากาก 3-4 วันครั้ง ก็ใส่มันทั้งอาทิตย์ หรืออย่างเลวร้ายที่สุด ก็คือ ซื้อให้เฉพาะลูกใส่ ส่วนตัวเองก็ทนเผชิญกับฝุ่นไป เมื่อเริ่มเจ็บป่วย...ก็หวังว่าเดี๋ยวก็คงจะหายเอง

แม้กระทรวงพาณิชย์จะมีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยและห้ามกักตุน แต่แม้กระนั้น หน้ากากดี ๆ ก็ยังถือว่าเป็น ของแพง เมื่อเทียบกับข้าวแกงอยู่ดี สิ่งเหล่านี้ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า เหตุใด จึงเลี้ยงดูปูเสื่อนักท่องเที่ยวจีนด้วยข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอย่างดี แต่กับเพิกเฉยการแจกหน้ากากคุณภาพดีให้กับคนจนเมือง เป็นเพราะคนจนในเมืองไร้ประโยชน์อย่างนั้นหรือ? หากจะกล่าวว่า ก็คนจนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ก็ให้เอาเงินในบัตรไปซื้อ ประเด็นที่สำคัญก็คือ คนจนเมืองอาจไม่ใช่คนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะมีรายได้เกิน (อย่าลืมว่า ความจนที่เกิดขึ้นในเมือง ไม่ใช่จนเพราะรายได้น้อย แต่จนเพราะรายจ่ายเยอะ) หากเราเป็นคนกลุ่มนี้..ก็คงจะได้แต่อิจฉานักท่องเที่ยวจีน และนึกน้อยใจรัฐบาลอยู่บ้างที่มองข้ามความสำคัญของพวกเขาไป ลืมไปว่าพวกเขาก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครเติบโต

โดย... วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์